"ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ในอดีต จะถูกถ่ายทอดไปยังลูก ๆ ของตน ถ้าเชื่อว่า เป็นไปได้ ก็ให้ท่านอธิบายตามเหตุและผลที่รู้มา หรือถ้าเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ก็อธิบายตามเหตุและผลเช่นกัน"
เชื่ออย่างยิ่งว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ย่อมถูกถ่ายทอดไปยังลูก ๆ ได้
พฤติกรรมของลูกคนทั้งโลก จะระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ดีหรือเลวนั้น ย่อมมีทัศนแตกต่างกันไป ตามวิสัยของคนผู้มอง (นานาทัศนะ) แต่ในที่นี้จะนำเอาคำว่า พฤติกรรมที่ดีหรือเลวตามทัศนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น มาเป็นหลักในการอธิบาย เพราะเป็นความดีหรือเลวที่เป็นสูตรสากลจริง ๆ ทัศนของคนอื่น ๆ เป็นสากลไม่ได้
พฤติกรรมหรือ กรรมไม่ดีและกรรมดีของคนท่านตรัสไว้ใน สุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๑ เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ข้อ ๓๕๙-๓๖๐ ความว่า อกุศลกรรมบถ พฤติกรรม หรือกรรมไม่ดีของคน ๑๐ อย่าง และกุศลกรรมบถ พฤติกรรมหรือกรรมดีของคน ๑๐ อย่าง
อกุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ไม่ดี ๑๐ อย่าง
๑. การยังสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณให้ตกล่วงไป
๒. การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้แล้ว
๓. การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
๔. การพูดเท็จ
๕. การพุดส่อเสียด
๖. การพุดคำหยาบ
๗. การพูดเพ้อเจ้อ
๘. ความคิดเพ่งเล็งเขาในแง่ร้ายหรืออยากได้ของเขา
๙. ความคิดปองร้ายเขา
๑๐. ความเห็นผิด
อกุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้ง ๑๐ อย่างเหล่านี้ บางสิ่งบางอย่าง มารดาบิดาอาจทำและจดจำไว้แล้วก็ได้ บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้ทำไว้เลยก็ได้ กรณีนี้เองที่เป็นการถ่ายทอดเป็นมรดกตกไปถึงลูก ๆ หลาน ๆ ในเมื่อทำให้เขาได้เกิดมา
กุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ดี ๑๐ อย่าง
๑. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณให้ตกล่วงไป
๒. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้แล้ว
๓. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
๔. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเท็จ
๕. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพุดส่อเสียด
๖. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพุดคำหยาบ
๗. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. ความไม่คิดเพ่งเล็งเขาในแง่ร้ายหรืออยากได้ของเขา
๙. ความไม่คิดปองร้ายเขา
๑๐. ความเห็นชอบ
กุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ดี ๑๐ อย่างเหล่านี้ บางสิ่งบางอย่าง มารดาบิดาอาจทำและจดจำไว้แล้วก็ได้ บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้ทำไว้เลยก็ได้ กรณีนี้เองที่เป็นการถ่ายทอดเป็นมรดกตกไปถึงลูก ๆ หลาน ๆ ในเมื่อทำให้เขาได้เกิดมา
ในสุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๑ เล่ม ๖ ในจูฬกัมมวิภังคสูตร ข้อ๕๘๑ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน, เป็นทายาทแห่งกรรม, มีกรรมเป็นกำเนิด, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย, กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯลฯ
อธิบายความตามหลัก ๖ หลักนี้
๑. สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน
คือ ลูกได้วิบากกรรม(ผลของกรรมทั้งดีและชั่ว)ทั้งดีและชั่วเป็นทุนจากแม่ พ่อก่อน ต่อมาลูกก็นำทุนมาทำเป็นกรรมของตน ทั้งดีและชั่ว
๒. เป็นทายาทแห่งกรรม
ระยะแรกเกิดก็รับมรดก คือ ผลกรรม ทั้งดีและชั่วจากแม่พ่อ เมื่อไปทำกรรมใหม่ทั้งดีและชั่ว ก็ได้รับผลใหม่ที่ทำนั้น
๓. มีกรรมเป็นกำเนิด
ที่ได้ถือกำเนิดมาจากครรภ์ของแม่นั้น ก็เพราะแม่พ่อร่วมกันทำกรรม (มีเพศสัมพันธ์) ลูกก็ถือกำเนิดมาจากกรรมนั้น
๔. มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
จิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ หรืออุปนิสัย (ไม่ใช่ร่างกาย) ของแม่พ่อเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด ซึ่งมีอยู่ ๑๐ เผ่าพันธุ์ คือ (๑) คนสัตว์นรก (๒) คนเปรต (๓) คนเดียรัจฉาน (๔) คนอสุรกาย (๕) คนอมนุษย์ (๖) คนมาร (๗) คนมนุษย์ (๘) คนเทวดา (๙) คนพระพรหม และ (๑๐) คนเผ่าพันธุ์พระอริยบุคคลระดับต้น ๆ เมื่อแม่พ่อเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด ลูกเกิดมาก็เป็นเผ่าพันธุ์นั้นตาม
๕. มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
หมายถึง การพึ่งพาอาศัยชนิดที่ชี้เป็นชี้ตายทีเดียว เช่น กิจการจักสำเร็จหรือไม่สำเร็จตามที่ตนปรารถนานั้น มีผู้ช่วยเหลือหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญ คือ กรรมดี กรรมชั่วของตนเองนำพาให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ
๖. กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้
- อกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง มีเจตนาทำปาณาติบาตเป็นอาจิณ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นคนสัตว์นรก เป็นคนเปรต ฯลฯ เป็นคนมาร
- กุศลกรรมหรือกรรมดี ๑๐ อย่างมีเจตนางดเว้นจากการทำปาณาติบาต เป็นต้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นมนุษย์ ผู้มีจิตใจสูง เป็นเทวดา ผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์
- กุศลกรรมระบบสมถกัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นพระพรหม ผู้มีจิตใจประเสริฐ
- อัพยากตกรรม คือ กรรมไม่ดีและไม่ชั่ว หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นพระอริยบุคคล เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
สัตว์เกิดในครรภ์ เช่น คน เป็นต้น มีกุศลกรรมฝ่ายดี หรืออกุศลกรรมฝ่ายชั่วของตน คือ มารดาบิดาก่อน เมื่อมารดาบิดามีเพศสัมพันธ์กัน น้ำอสุจิที่มาผสมกับไข่ในครรภ์ก่อให้คนปฏิสนธิและปฏิสนธิด้วยการประมวลกรรมหรือวิบากกรรม ที่เป็นกรรมดีหรือเป็นกรรมชั่วของมารดาบิดานั้นมาให้ปฏิสนธิหรือให้เกิดเป็นตัวตนใหม่ คือ ลูก จากนั้นต่อไปก็จึงเป็นว่า สัตว์ทั้งหลาย (ลูก ๆ ) มีกรรมดีและชั่วเป็นของตน (เพราะเป็นมรดกตกทอดมาจากมารดาบิดา) พฤติกรรมหรือการกระทำของลูก ๆ ต่อ ๆ ไปก็ย่อมเป็นเหมือน ๆ กันกับพฤติกรรมของมารดาบิดา แต่อาจมีลักษณะเด่นเป็นบางอย่าง หรือมีลักษณะด้อยเป็นบางอย่าง ก็แล้วแต่กรณีหรือแล้วแต่เหตุปัจจัยมาสนับสนุนหรือมาลิดรอนให้อะไรเด่น-ด้อย ดูตัวอย่าง แมว พฤติกรรมของลูกแมวก็ย่อมไม่ต่างจากพฤติกรรมของแม่และพ่อแมวเท่าไรนัก ก็เพราะมีกรรมเป็นของตน (กรรมของตน คือ ของแม่แมวและกรรมของตน คือ ของลูกแมว เป็นต้น)
สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม (รับมรดกของกรรมดีและชั่ว จากมารดาบิดามาเป็นต้นทุนก่อน)
ทายาท ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามไว้ว่า “ ผู้สืบสันดาน ผู้สืบสกุล” ขยายความว่า ชีวิตของลูก ๆ ทั้งหมดทั้งร่างกาย จิตใจ ทัศนคติไม่ว่าคน สัตว์เป็ผลกรรมดีและชั่วของมารดาบิดาถ่ายทอดเป็นทุนมาให้ทั้งสิ้น (อ่านดูตัวอย่างการรับมรดกกรรมชั่ว จากมารดา(ตามภาษาคนหรือพระสูตร) ในธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑ ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๑/๒๕๒๖ หน้า ๖๔ เรื่อง ความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น