วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

บุญทัน พาหา เรื่อง

ทันทีที่ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนพ้องน้องพี่นักศึกษาดีกรีปริญญาเอกสาขายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนารุ่นที่ 7 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่รวมตัวกันจัดโปรแกรมทัศนศึกษาและลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในลาวใต้ ผมรีบตกปากรับคำโดยไม่ลังเล...
การเดินทางครั้งนี้เราได้อาจารย์ใหญ่ คืออธิการบดี รศ.ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ที่ทำหน้าที่สารพัดอย่าง เป็นทั้งไกด์กิตติมศักดิ์ ครูผู้ควบคุมและวิทยากรภาคสนามพร้อมสรรพ ใน Trip นี้ เราต่างได้ตระหนักถึงคำว่าพหูสูตแห่งสหศาสตร์จากการชี้แนะบอกเล่าของท่าน การแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นในหมู่นักศึกษาเป็นไปในรูปของการ “Focus Group” แบบเข้มข้นตลอดเส้นทาง ความรู้ความเห็นจึงไหลหลั่งพรั่งพรูมาดุจสายน้ำโขงที่ไหลผ่านแก่งหินในน้ำตกหลี่ผีและสีทันดอน (สี่พันดอน) มีทั้งพลิ้วผ่านหนักแน่นและลุ่มลึก บางความคิดความเห็นแตกกระสานซ่านเซ็นออกนอกกรอบไปบ้างก็ได้อาจารย์ใหญ่คอยชี้แนะและตะล่อมกลับมาสู่ครรลอง
การเดินทางใน Trip นี้จึงเน้นไปที่ภาควิชาการที่ต้องบันทึก ส่วนภาคบันเทิงเป็นเพียงความสุนทรีจากวิถีชีวิตผู้คนและแง่งามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์เอาไว้ให้ลาว
“อ้าย ๆ ตะกร้าหวายบ่จ้า”
เสียงเรียกร้องเชิญชวนให้ซื้อตะกร้าหวายของแม่ค้าริมฟุตบาทขณะคณะยืนรอพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของลาวตรงข้ามพรมแดนด่านช่องเม็กอำเภอพิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี ที่มาของเสียงเป็นแม่ค้าร่างเล็กแทรกตัวอยู่ตรงกลางแผงขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหวายและไม้ไผ่ซึ่งมีหลากหลายขนาดและรูปแบบ ทั้งเตียงนอน เก้าอี้ หมอนหนุนนอน ถัดไปเป็นแผงขายพันธ์กล้วยไม้ป่าและผ้าพื้นเมือง ยังมีแผงขายซีดีหนัง เพลงไทย และเพลงสากลใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ของแท้ผสมปนเปไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนหลายรายการ ด่านตรงพรหมแดนก็เหมือนประตูหรือหน้าต่างที่บอกให้คนข้างนอกรู้เห็นความเป็นไปของคนข้างในบ้านได้บ้าง ร้านค้าหรือสินค้าที่วางขายก็สะท้อนได้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภายใน
ครั้งหนึ่งผู้รู้เคยบอกผมว่า ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเขตร้อนคือหวายกับเถาวัลย์ เสียงร้องเรียกของแม่ค้าตะกร้าหวายเมื่อครู่ เร่งให้หลายคนอยากรู้ว่าผืนป่าที่ลาวใต้จะสมบูรณ์สักเพียงใด
เพียงแรกสัมผัสผมก็เริ่มเห็นความแตกต่าง!!
ทิวทัศน์สองข้างทางเมื่อมองจากช่องหน้าต่างรถบัสปรับอากาศทำในเกาหลี ก็เห็นบ้านเรือนผู้คน ทุ่งนาสลับกับทิวป่า มีฉากหลังเป็นเทือกเขาสีเทาลดหลั่นเป็นชั้นๆ ไปบรรจบกับเส้นขอบฟ้าสีเงินยวงด้านทิศตะวันตก แรกนั่งเราต้องตั้งสติกับระบบการจราจรที่เดินรถกลับด้านกับฝั่งไทย กลัวว่ารถที่แล่นสวนมาจะพุ่งเข้าหาแต่ไม่นานนักก็เริ่มคุ้นชิน ฝนเมื่อบ่ายวันวานทิ้งร่องรอยของความชื้นฉ่ำเอาไว้ ละอองไอของสายหมอกยังจับกลุ่มลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือทิวเขาและราวไพรสองฟากฝั่งเส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไปราวกับจงใจมาต้อนรับอาคันตุกะใหม่
สถานที่และบรรยากาศแปลกใหม่เรียกร้องความสนใจได้มากเสมอ !!!
หลายคนเหลียวซ้ายแลขวาอย่างใคร่รู้ ลางคนเริ่มคุยกับความคิดตัวเอง ใช่หรือไม่ว่า ความรู้สึกของคนเราบางครั้งเห็นก็เหมือนกับไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินในยามที่ครุ่นคิดหรือจิตดิ่งลึกอยู่ในห้วงจินตนาการ เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างลอยผ่านหน้า วันเวลาก็เช่นกันแม้ชั่วโมงนาทีจะมีค่าเท่ากันแต่ในห้วงทุกข์กับสุขเวลาย่อมสั้นยาวไม่เท่ากัน ความรู้สึกของผมในวันนั้นกับการเดินทางบนถนนแคบๆ แต่ราบเรียบความยาว 44 กิโลเมตร จากชายแดนช่องเม็กในฝั่งไทยหรือด่านวังเตาในฝั่งลาวสู่เมืองปากเซช่างเป็นระยะทางที่สั้นเพียงไม่กี่อึดใจก็ถึง
“พวกเราดูข้างล่าง...เร็ว”
เสียงอื้ออึงดังขึ้นเมื่อรถบึ่งมาถึงสะพานยาวข้ามโขงมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ก่อนเข้าสู่เมืองปากเซ ผมตื่นขึ้นจากภวังค์ความคิด สายตาหลายคู่ส่ายหาสาเหตุตามต้นตอของเสียง ความยาวของสะพาน... ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำ...หรือสาเหตุใด? ต่างคนอาจคิดและเห็นต่างกันไปตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน
“ดูดี ๆ เรากำลังข้ามผ่านพญานาคไป” เสียงเดิมจินตนาการไว้รอท่า
อาจเป็นเพราะคดโค้งแห่งสายน้ำกับลำแสงสุดท้ายแห่งวันที่ตกมากระทบ กอปรกับน้ำที่ไหลเอื่อยเฉื่อย วันนั้นผมและสายตาหลายคู่แลเห็นแม่น้ำโขงเป็นพญานาคขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื้อยอย่างเชื่องช้าลับหายไปทางหุบเขานางนอนทางตอนใต้ (เรื่องราวของพญานาคกับลำน้ำโขงคงเป็นตำนานมีชีวิต มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนบนสองฟากฝั่งเสมอมา)
เขานางนอนนั้นคือนางมะโรงตามตำนานส่วนเทือกเขาเบื้องซ้ายที่ทอดกายคู่ขนานกับลำน้ำโขงคือเท้าบาเจียง คู่รักที่ไม่สมหวังแห่งรัก เสียงวิทยากรจากกิจกรรม “Focus group” บนรถแว่วมาและคงดำเนินต่อไป เราได้ความรู้มากมายจากการผลัดเปลี่ยนกันมาอรรถาธิบายความของไกด์ดีกรีว่าที่ดอกเตอร์ทั้งหลาย คล้ายกับเป็นชุดวิชาเคลื่อนที่เป็น Study Tour อย่างแท้จริง กระแสความรู้ ความเห็นพรั่งพรูมาเป็นระลอกดุจสายน้ำ จนบางครั้งผมรู้สึกว่าครุถัง (คลังสมอง) ที่ผมมีอยู่และใช้บรรจุมันแคบและเล็กเกินกว่าจะรองรับไว้ได้หมด บางส่วนเสี้ยวของสายน้ำแห่งความรู้ที่ผมตักเก็บมาได้ในวันนั้นก็คือสิ่งที่อยู่ในมือท่าน ณ วันนี้
สะพานข้ามโขงแห่งใหม่นี้ให้ชื่อว่า สะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น สร้างขึ้นจากน้ำใจของชาวญี่ปุ่นที่แบ่งปันเงินเยนมาให้ ทำให้พี่น้องลาวตอนใต้กับไทยไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น เราแวะพักทานเที่ยงกันที่ภัตตาคารลอยน้ำเรือนแพคำฟอง ตั้งอยู่ตรงบริเวณเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ในเมืองปากเซ บริเวณอันเป็นที่มาของชื่อ “ปากเซ” เมืองเอกของแขวงหรือจังหวัดจำปาสัก (“จำปา” คือชื่อของดอกลั่นทมในภาษาลาว เป็นต้นไม้ประจำชาติของลาว ส่วนคำว่า “สัก” ก็คือการปักหรือปลูก กษัตริยในสมัยโบราณเชื่อว่าเมื่อได้นำเอาต้นกล้าของดอกจำปาไปสักหรือปักไว้ที่ใดหากต้นกล้านั้นเจริญงอกงามนั่นหมายความว่าสามารถสร้างเมืองตรงจุดนั้นได้) เมื่อแม่น้ำเซโดนไหลมารวมกับแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันออก “เซ” ในภาษาลาวหมายถึงสายน้ำใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น เซโดน เซกอง ส่วน “แซ” คือสายน้ำน้อย ๆ ที่ไหลลงสู่เซอีกทอดหนึ่ง ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งคราเข้าพักแรมที่เขื่อนสิรินธร สายน้ำสำคัญที่ถูกปิดกั้นเพื่อสร้างเขื่อนก็ชื่อ “เซโดน” เกิดจากแซหลายสายไหลมารวมกันก่อนจะมาเป็นเซโดน ห้องประชุมในอาคารสัมมนาที่นี่จึงมีทั้งชื่อ “แซน้อย” “แซใหญ่” การสื่อสารและความเข้าใจเรื่องภาษาของพี่น้องไทยและลาวแถบนี้แทบจะไม่ต้องตีความ เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายแห่งความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรจำปาสักโบราณทันทีที่ข้ามสะพานมา
ฝรั่งเศสสร้างเมืองปากเซสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1905 ราวหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน เป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นเมืองศูนย์กลางในลาวใต้ ที่นี่จึงมีศูนย์ราชการมากมายหลายแห่ง เป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจเพราะเป็นหน้าด่านที่ส่งออกและนำเข้าสินค้าของลาวในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต (ไทย ลาว กัมพูชา) เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและการคมนาคมเพราะเป็นชุมทางของทั้งสายน้ำและถนน หากคิดจะท่องเที่ยวไปในลาวใต้ที่นี่คือจุดเริ่มต้น เป็นต้นทางเพื่อไปยัง อัตตะปือ เซกอง และสาละวัน เหตุนี้จึงมีโรงแรมเก่าใหม่มากมายสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากไทยที่หลั่งไหลเข้าไปมากขึ้นทุกปีๆ
เราเลยผ่านปากเซไปโดยมีเป้าหมายค้างแรมที่รีสอร์ทผาส้วม (บ้างเขียน “ซ่วม” ในภาษาลาวหมายถึงห้องโถง ส่วน “ตาด” หมายถึงน้ำตก บ้างจึงเรียกกันว่า ตาดผาส้วม นอกจากนี้ยังมี ตาดฟาน ตาดเยือง ส่วนตาดคอนก็คือคอนพะเพ็ง) ในบรรยากาศอิงแอบแนบชิดธรรมชาติ บ้านพักถูกออกแบบและสร้างไว้อย่างกลมกลืนซุกตัวอยู่ในผืนป่ารายล้อมด้วยธารน้ำไหลและสายน้ำตก ภายหลังทราบว่าแนวความคิดเรื่องการสร้างบ้านพักที่นี่ถูกพัฒนามาจากแบบบ้านของชนเผ่าในลาวใต้ บางบ้านเป็นบ้านบนต้นไม้คล้ายบ้านทาร์ซานมีเถาวัลย์เป็นบันไดให้ปีนป่าย บางบ้านยื่นล้ำไปสู่ธารน้ำตกรับละอองไอจากสายน้ำราวกับนอนฟังเสียงฝนตก เตียงนอนทำจากกระดานไม้แผ่นเดียวผืนใหญ่ พื้นห้องน้ำมีก้อนหินน้อยใหญ่ให้เหยียบย่ำผ่อนคลายประสาทสัมผัสปลายเท้า หลังคาเป็นแบบเปิดประทุนด้านบนเปิดโล่งโยงท่อต่อน้ำมาจากลำธาร มีเครื่องปั่นไฟใช้เองเป็นไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทุกอย่างสอดรับกันอย่างลงตัวสมบูรณ์แบบในบรรยากาศที่ย้อนยุคไปหลายปีพอให้ได้รำลึก
คุณวิมล กิจบำรุง เจ้าของรีสอร์ทคนไทยที่ไปบุกเบิกอุทยานผาซ่วมครั้งแรก เล่าถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านแผ่นปลิวที่ทำขึ้นมาสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะใจความว่า เมื่อทางการ สปป.ลาว อนุญาติให้เขาเข้ามาพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเมื่อปีค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้ให้โจทย์มาข้อหนึ่งว่าโฉมหน้าใหม่ของผาส้วมจะต้องเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมของชนเผ่าควบคู่กันไป แต่ผาส้วม ณ เวลานั้นหาได้มีสภาพเช่นที่เห็นในวันนี้ไม่ ป่าเป็นป่าเสื่อมโทรม บนพื้นดินในพื้นน้ำไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลือ สัตว์น้ำ สัตว์ป่าถูกจับไปเป็นอาหารหมด ธารน้ำตกสกปรกรกตาด้วยขอนไม้ใหญ่ระเกะระกะ แก่งหินที่เบี่ยงบังทางน้ำ มิหนำซ้ำยังมีโรคร้ายและไข้ป่าชุกชุม
เมื่อเวลาผ่านไป… ดุจคนไข้ได้หมอดีรักษา ผาส้วมค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพพร้อมๆ ไปกับการก่อกำเนิดขึ้นมาของหมู่บ้านและพิพิธภัณฑ์ของชนเผ่า
ตัวน้ำตกผาส้วมซึ่งเป็นศูนย์กลางของรีสอร์ท มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเกือกม้า (Horse’s shoe) เมื่อธารน้ำทั้งสายไหลมาตกลงตรงหน้าผารูปเว้าโค้งทรงเกือกม้าส่งเสียงดังไปไกลหลายสิบเมตร ละอองความชื้นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จุดถ่ายรูปและชมวิวเป็นชะง่อนหินที่ยื่นออกไปเบื้องหน้าเสมอระดับผาน้ำตก ยังมีสะพานแขวนแบบชิงช้าซึ่งสร้างพาดผ่านโตรกธารหน้าผาน้ำตกเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เห็นวิวทิวทัศน์รอบทิศ ยามเดินผ่านไปยังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นร้านอาหารจะแกว่งไกวไหวโคลงเคลงและให้ความรู้สึกตื่นเต้นราวกำลังลอดซุ้มอุโมงเพราะร่มเงาของเถาและใบของต้นใบละบาทที่ปกห่มอยู่ด้านบน (ต้นใบละบาทเป็นไม้เถาใบหนาใหญ่มีดอกสีม่วงคล้ายดอกชะบา) ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้สมญาผาส้วมว่าเป็นมินิไนแองการ่าแห่งเอเชีย เพราะหน้าตาและรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน หากแตกต่างก็คงเพียงแค่ขนาดและบรรยากาศที่รายล้อม
หมู่บ้านของชนเผ่า (เฮือนชนเผ่า) ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับอุทยานผาส้วม มีทางเดินเป็นซุงไม้ตัดขวางปูเชื่อมต่อถึงกัน สภาพบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้ถูกอนุรักษ์ไว้ใกล้เคียงของเก่ามากที่สุด รวมทั้งกิจกรรมที่จัดไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นไปของผู้คนแต่ละชนเผ่าของลาวใต้
จุดดึงดูดสายตาทันทีที่ก้าวเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านชนเผ่าคือ หอสังเกตการณ์อเนกประสงค์ของเผ่าละแว ลักษณะเป็นเรือนเสาเดี่ยวตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เฉพาะเสามีความสูงราว 10 เมตร สร้างไว้เพื่อเฝ้าระวังเภทภัยต่าง ๆ เช่น จากสัตว์ร้าย ศัตรูและเอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน นอกจากนั้นยังมีไว้ให้หนุ่มสาวเผ่าละแวขึ้นไปพร่ำพรอดทำความรู้จักกันให้มากขึ้น โดยไม่มีการล่วงล้ำประเพณีอันดีงามเพราะถือว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ก่อนลงเอยด้วยการแต่งงาน
“กลิ้งครกจกสาว” เป็นประเพณีมีชื่อเสียงของชนเผ่าละแว ตัวเรือนมีใต้ถุนยกพื้นไม่สูงมากนักแบบบ้านสมัยโบราณ ห้องนอนของหญิงสาวจะเปิดช่องเล็กๆ ไว้ให้ชายหนุ่มมายืนพูดคุยมอบของขวัญให้แก่กัน สัมผัสมือไม้กันได้ “จก” หมายถึง จับหรือสัมผัส ส่วน“ครก” ก็คือครกตำข้าวที่ผู้บ่าวใช้เหยียบปีนขึ้นไปคุยกับสาว
เผ่ากะตูเป็นอีกเผ่าหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแต่งกายที่เสื้อผ้าและเครื่องใช้ทำมาจากปอกระเจาและวัสดุอื่นๆ จากธรรมชาติ ชนเผ่านี้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนแตกต่างจากเผ่าอื่นและยังมีศิลปะทางด้านการแสดงและดนตรีที่โดดเด่นในแบบฉบับของตนเอง
เผ่าแงะ ก็เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านชนเผ่าของอุทยานผาส้วม ดั้งเดิมของชนเผ่านี้มาจากเมืองกะลืมแขวงเซกอง พวกนี้เรียกตัวเองว่าเกรียง ข้อสังเกตคือจะมีนามสกุลที่มีคำว่า เกรียง อยู่ด้วย เช่น ชีพรูจะเกรียง เป็นต้น แต่จากการรวมชนเผ่าของทางราชการลาว ชนกลุ่มนี้จึงถูกรวมอยู่ในนาม เผ่าแงะ ในเวลาต่อมา
บริเวณลานกลางหมู่บ้านชนเผ่าเราได้เห็นหลักฆ่าควายของชนเผ่าแงะ เป็นเสาสูงประมาณ 2 เมตร ใช้สำหรับล่ามควายไว้ฆ่าในงานบุญ เราได้รู้ต่อมาว่าหากจะนับคำนวณความเก่าแก่ของชุมชนให้นับจากจำนวนหัวควายที่แขวนไว้ที่สมาคมหรือที่ทำการหมู่บ้าน เพราะปกติแล้วในประเพณีงานบุญของทุกปีชนเผ่าแงะจะมีการฆ่าควายกันปีละครั้ง ๆ ละหนึ่งตัวตามขนาดของชุมชนและเก็บหัวควายเอาไว้
เผ่าต่อมาคือเผ่ากะตาง มีความน่าสนใจและโดดเด่นมากในการแต่งกายโดยเฉพาะผู้หญิงที่ห้อยเครื่องประดับเป็นลูกปัดหินหลากสีมาห้อยคอและเจาะหูร้อยด้วยงาช้าง ชนเผ่านี้ดั้งเดิมมาจากเมืองตาโอยแขวงสาละวัน ในยามว่างชายหญิงจะนั่งล้อมวงพูดคุยกันและสูบกอก (คล้ายบ้องกัญชาแต่เป็นการสูบยาเส้นผสมน้ำอ้อย)
เผ่าอาลักและเผ่าตะเรียง เป็นชนเผ่าที่มีความสามารถในด้านการถักทอผ้าฝ้ายที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ หญิงชายเผ่าอาลักนิยมสักลวดลายตามหน้าตาและตามตัว ส่วนเผ่าตะเรียงปลูกสร้างบ้านเรือนได้โดดเด่นโดยเฉพาะส่วนหลังคาที่โค้งมนมีการประดับประดาด้วยเขาควายตรงปลายจั่วด้านบนสุด
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนของชนเผ่ายะเหินเผ่าโอยที่จัดแสดงไว้ในอุทยานผาส้วม ชนเผ่าเหล่านี้ต่างมีวิถีชิวิตและประเพณีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปจากชนเผ่าลาวลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของลาวและลาวสูงชนเผ่าบนดอยสูงของลาว ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งสร้างเป็นโรงเรือนแบบโบราณหลังใหญ่กลางบ้านได้เก็บอนุรักษ์ข้าวของเครื่องใช้ของชนทุกเผ่าในลาวใต้ไว้หลายรายการ เช่น กะลอมเก็บเสื้อผ้าและพืชผลการเกษตร ซึ่งมีรูปลักษณ์ ขนาดและความปราณีตของชิ้นงานแตกต่างกัน บางชิ้นมีอายุนับร้อยๆ ปี ยังมีไหโบราณมากมายที่ชนเผ่าในลาวซื้อมาจากชาวจีนและเผ่าจามในเวียดนามเพื่อนำมาใช้เป็นของกำนัลและสินสอดของหมั้น
“วิถีของชีวิตที่แตกต่างและหลายหลายของชนเผ่าในลาวใต้เปรียบเสมือนการเยี่ยมชมทุ่งดอกไม้ที่หลากสีย่อมให้คุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกที่สมบูรณ์แตกต่างจากการชมแปลงดอกไม้ที่มีสายพันธ์เดียว เห็นไหม... แม้แมลงภู่ผึ้งที่มาดอมดมก็แตกต่างหลากหลายสายพันธ์กว่า ทุกสรรพชีวิตต่างเกื้อกูลและพึ่งพาอาสาอาศัยเติมเต็มให้กันสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์” คือคำที่อาจารย์ใหญ่ของเราชี้แนะและบรรยายย้ำเมื่อทุกคนพร้อมกันบนรถขากลับออกมาจากอุทยาน เป็นประโยคสะกิดใจที่ทำให้ผมได้ตระหนักซึ้งถึงอีกหนึ่งแง่งามของลาวใต้
เยือนลาวคราวนี้เราไม่ได้ไปถึงหลี่ผีและคอนพะเพ็งด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลา แต่จุดสุดท้ายของการลงพื้นที่ในTripนี้มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสำหรับอาคันตุกะหน้าใหม่นั่นคือ ปราสาทวัดภู ปราสาทหินศิลปะสมัยขอม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองจำปาสัก เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่สองของลาวต่อจากเมืองหลวงพระบาง การเยือนปราสาทวัดภู ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงอดีตความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมสมัยโบราณกับเส้นทางราชมรรคาสายสอง ที่มุ่งหน้าจากนครวัดของกัมพูชามาทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือโคตรบอง ที่ตั้งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ในปัจจุบันก็คือบริเวณพระธาตุพนม
ในเส้นทางกลับคืนสู่เมืองปากเซ เราได้ผ่านย่าน Green Zone ของลาวใต้ซึ่งอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ด้วยไร่เงาะ ทุเรียน ไร่ชาไร่กาแฟในเขตส่งเสริมการเกษตรของแขวงจำปาสัก ในเส้นทางยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายสายให้แวะชม อาทิ น้ำตกตาดเยือง ที่เราสามารถเข้าถึงสัมผัสกับสายน้ำและสูดกลิ่นละอองไอได้อย่างใกล้ชิด น้ำตกตาดฟาน เรามองเห็นได้ในระยะไกล เป็นน้ำตกยาวคู่ขนานสองสายดิ่งทิ้งตัวพลิ้วไหวดุจแพรไหมพาดมาจากผาลงสู่หุบเหวของผืนป่าเบื้องล่าง ตาดฟานได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่มีความสูงที่สุดในลาว บ้างว่าอาจสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดความสูงได้ราว 120 เมตร จากหน้าผาลงมาถึงแอ่งน้ำด้านล่าง
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีเอกร่วมสมัยของไทย ได้ร่ายบทกลอนพรรณนาความงามของน้ำตกตาดฟานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า...
“ควันฟองอันฟ่องฟู ขึ้นฟอกฟ้าหุบผาไพร
อาบอวลละอองไอ กำจายชื่นมาฉ่ำภู
น้ำพุ่งกระโจนผา เพียงผาไหวพะพรายพรู
พลั่งพลั่งประดังดู ดั่งดงดึกดำบรรพ์
ที่ฟ้าเป็นฟ้าหยาด แลดินผาดขึ้นเพียงแผน
ควั่งคว้างอยู่กลางแกน แห่งกาลจักรเคลื่อนจักรวาล
เสนาะสนั่นคะครั่นครึก ลงลึกล้ำด่ำบาดาล
สายขวัญแห่งตาดฟาน ผูกฟ้าดินนิรันดร”

สินค้าในตลาดพื้นเมืองริมทางหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีผลิตผลจากป่าหลายอย่างมาวางขายอยู่ดาษดื่น กล้วยไม้ป่า หน่อไม้ แมลงชนิดต่างๆ รวมทั้งชากับกาแฟแปรรูปที่คั่วและบดตามแบบฉบับของเกษตรกรพื้นเมือง ผมไม่พลาดที่จะลิ้มลองรสชาติชาและกาแฟจากร้านกาแฟริมทางร้านหนึ่ง ซึ่งบนแผ่นไม้กระดานข้างฝาได้สาธยายสรรพคุณของกาแฟที่นี่ไว้ ความว่า...
“ดำดั่งปีศาจ ร้อนดั่งนรก หอมดั่งนางฟ้า รสชาติดั่งความรัก”
แม้ผมจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้คอกาแฟสักเท่าใดนัก ยังไม่เคยเจอะเจอทั้งปีศาจและนางฟ้า อีกนรกก็ไม่เคยได้สัมผัส จะมีก็แต่ความรักตามวันวัย ก็ยังแยกไม่ได้ว่ารสชาติความหอมของกาแฟที่นี่กับความหอมหวานของรักแรกแตกต่างกันอย่างไร!!
“ชาล้นถ้วย” คือ นิยามอาการของผมในวันเดินทางกลับ สองวันที่ลาวใต้ผมตักตวงทุกสิ่งทุกอย่างมาเก็บไว้จนล้นปริ่มไม่สามารถเติมสิ่งใดลงไปได้อีก ทุกครุถังของคลังสมองเต็มเปี่ยมด้วยสรรพความรู้ อารมณ์ และความงามบริสุทธิ์ในรอยยิ้มของผู้คน กับวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายห้อมล้อมด้วยธรรมชาติสายน้ำตก ผืนป่า ฯลฯ
ผมได้ตระหนักว่า การเลือกทำตัวอย่างเรียบง่ายไม่ใคร่เป็นที่รู้จักของใครต่อใคร ไม่เห่อหลงไหลไปกับกระแสเหมือนลาวที่กำลังเป็นอยู่ในวันนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยลาวยังสามารถรักษาธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษให้ดำรงอยู่ได้ถึงลูกถึงหลาน ในขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลาย ๆ สังคมมัวแต่แข่งกันร่ำรวยแข่งกันก้าวไปข้างหน้า จนลืมไปว่าทางเดินในวันเก่ารากเหง้าของตนมาจากไหน ไม่แปลกที่ผู้คนของเขาจำนวนหนึ่งจึงเรียกร้องและโหยหามันเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่สังคมของเขาได้ละทิ้งไปแล้วอย่างถาวร
หรือประสบการณ์ชีวิตบางส่วนเสี้ยวในวันนี้จะทดแทนได้บ้างกับสิ่งที่เราเพรียกหามันอยู่?

รอยไท...ในสิบสองปันนา

รอยไท...ในสิบสองปันนา
บุญทัน พาหา....เรื่อง


“เดินทางร้อยลี้ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม...”
ผมอ่านเจอสำนวนนี้ที่นักเดินทางไทยคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ มีความหมายโดยนัยว่าการได้ไปเห็นสถานที่ไม่คุ้นชิน เหตุการณ์ใหม่และผู้คนแปลกตาเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ดีกว่าการโลดแล่นไปตามตัวหนังสือที่มีผู้บันทึกไว้ ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม หลายเหตุการณ์ที่ไปประสบพบเห็นมาจะถูกเก็บใส่ไว้ในลิ้นชักของความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม และบ่อยครั้งเหมือนกันที่ส่วนเสี้ยวของความทรงจำนั้นถูกหยิบจับมาเป็นประเด็นการพูดคุยในหมู่มิตรหรือสนทนากับความคิดของตนเองในเรื่องที่สงสัยหรือเห็นต่างบางห้วงบางเวลาช้าบ้างเร็วบ้าง...
การเดินทางล่องเรือตามลำน้ำโขงจากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า (Ganlanpa) เมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันมา มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เลาะเลียบเกาะแก่งและโตรกผาตามแนวตะเข็บรอยต่อพรหมแดนระหว่างเมียนม่าร์และลาว จนลุถึงดินแดนสามเหลี่ยมทองคำจุดหมายปลายทางที่ท่าเรืออำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายใช้เวลายาวนานร่วมสิบสองชั่วโมง เป็นชั่วโมงการเดินทางทางน้ำที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของพวกเราหลายคน แต่ด้วยธรรมชาติได้รังสรรค์ความงามของวิถีแห่งสายน้ำไว้ให้ ผมและเพื่อนๆ จึงเพลิดเพลินกับการเดินทางอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย มีทั้งเวิ้งน้ำ โตรกธาร สันดอนทราย แก่งหิน วิถีชีวิตผู้คนในสายน้ำและสองฟากฝั่งเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างลำเรือเรียกร้องความสนใจ และตรึงความคิดผมไว้ให้อยู่กับมันนานหลายครู่ยามก่อนที่ภาพใหม่จะเข้ามาทดแทนสลับฉากอย่างนี้เรื่อยไปตลอดเส้นทาง
ระวางบรรทุกเรือโดยสารสัญชาติจีนเที่ยวนี้มีผู้โดยสารรวมทั้งลูกเรือเกือบ 100 ชีวิต ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นคนไทยในคณะของพวกเรา ความที่เป็นคนหมู่มากเราจึงเจรจาขอใช้เครื่องเสียงบนเรือเพื่อให้ไกด์ ผู้รู้ และนักวิชาการผู้เดินทางร่วมไปกับคณะได้บรรยายเติมเต็มข้อมูลในสิ่งที่พวกเราได้พบเห็นมาตลอดการเดินทางเยือนดินแดนสิบสองปันนาเมื่อ 2-3 วันที่ก่อน ทั้งทัศนะและความรู้จึงพรั่งพรูมาเหมือนสายน้ำสำหรับผู้สนใจให้รีบขวนขวายหาภาชนะตักใส่ กล้องถ่ายรูป เครื่องบันทึกเสียง กล้องวีดิโอ ให้นึกสงสารก็แต่ผู้โดยสารบางรายที่ต้องการพักผ่อน แต่เขาคงต้องทำใจเพราะไม่อาจอุทธรณ์ใดๆ ได้ในเมื่อได้ร่วมหัวจมท้ายลงเรือลำเดียวกันแล้ว
ผมย้อนนึกถึงวันเดินทางไป ในความรู้สึกคล้ายกับไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ หมู่คณะเราทยอยลงเรือหางยาว 5-6 ลำ ข้ามฟากที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายหลังอาหารเช้า ข้ามไปยังแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว บนฝั่งด้านนั้นเราเจอนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกประเภท Backpacker วัยหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังรอผ่านการตรวจเช็คบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว พวกเราเดินผ่านไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ที่ไกด์เตรียมไว้และออกเดินทางไปตามเส้นทางสาย R3A มุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ดินแดนสิบสองปันนา
เส้นทางสาย R3A เป็นถนนตัดใหม่ในความพยายามของจีนที่ต้องการเปิดประตูด้านทิศใต้สู่ประเทศในแหลมอินโดจีนเพื่อเป็นเส้นทางการค้าและสัญจรไปมาหาสู่กัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากด่านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายผ่านแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทาในลาวไปถึงชายแดนบ่อหานของจีนได้ภายใน 6-7 ชั่วโมง ระหว่างการเดินทางใน ลาว เราสวนทางกับขบวนรถบรรทุกสินค้าและรถเรลลี่ของนักท่องเที่ยวจากจีนอยู่เป็นระยะๆ ในรอบ 15 ปี มานี้จีนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งในด้านการค้า การผลิตและการบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัดจึงสามารถแผ่รัศมีได้กว้างใหญ่ไพศาล เส้นทางสาย R3A ที่จีนลงทุนสร้างตัดผ่านประเทศลาวเป็นความพยายามหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนของจีนที่แผ้วถางลงมาทางใต้ ภาพนั้นค่อยปรากฏแจ่มชัดขึ้นแล้วกับโครงการเช่าพื้นที่ตามแนวชายแดนใน สปป.ลาว หลายแห่งมาพัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเมืองร้อนเพื่อป้อนตลาดของจีนเอง เช่น ยางพารา กล้วยหอม ลำไย บางส่วนเป็นโรงงาน ศูนย์การค้า และคาสิโน ด้วยสัญญาเช่าระยะยาว
ย้อนไปในอดีตเมื่อราว 60-100 ปีก่อน ความแออัดและความยากจนในประเทศจีนบีบบังคับให้คนจีนในแผ่นดินใหญ่ต้องอพยพแสวงหาที่ทำกินใหม่บนแผ่นดินอื่น จนเกิดเป็นสังคมชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ดินแดนสุวรรณภูมิของไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการอพยพย้ายถิ่นของคนจีนในยุคนั้น โดยมากันได้หลายเส้นทางทั้งทางบกมาตามแม่น้ำและทางทะเลยกเว้นทางอากาศ เพื่อนคนไทยเชื้อสายจีนร่วมสมัยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อาก๋งอพยพมาจากเมืองจีนแถบมณฑลกวางสีเลือกใช้เส้นทางเดินเท้าผ่านเวียดนาม มายังลาวถึงเมืองหลวงพระบางจากนั้นจึงล่องมาตามแม่น้ำโขงจนมาถึงโขงเจียมหันเปลี่ยนเส้นทางขึ้นมาตามลำน้ำมูลและมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ภาคอีสานของไทย
การอพยพย้ายถิ่นฐานของชนชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ชนชาติพันธุ์ไทเคยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้าที่ยิ่งใหญ่อยู่ในจีนตอนใต้ก่อนจะแตกกระจัดกระจายแยกย้ายเป็นหลายกลุ่ม เช่น ไทอาหม ในอินเดีย ไทสิบสองจุไทในเวียดนามตอนเหนือ ไทใหญ่ในเมียนม่าร์ และคนไทยในประเทศไทย แต่ยังมีคนไทเชื้อสายเดียวกันกับเราที่ยังคงปักหลักอาศัยอยู่ในดินแดนดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดอยู่อีกหลายกลุ่ม เช่น ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ไทจ้วงแห่งมณฑลกวางสี รวมทั้งไทดำไทแดงแถบลุ่มแม่น้ำแดง
วันนี้เส้นทางสาย R3A กำลังทำหน้าที่เป็นสะพานนำพาพวกเราย้อนกลับไปตามหาร่องรอยชาติพันธุ์ของตนกับคนไทในดินแดนสิบสองปันนา
“เงื้อดึงธนูให้ถอยมาไกลได้มากเท่าไร ลูกธนูที่ปล่อยไปก็จะพุ่งได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น”
เป็นคำกล่าวของปรมาจารย์ด้านชาติพันธุ์วรรณนาซึ่งกล่าวไว้อย่างลึกซึ้งกินใจ มีความหมายว่า การศึกษาอดีตอย่างลุ่มลึกทำให้เรารู้เท่าทันกับปัจจุบันและจะสามารถพัฒนาอนาคตได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ก่อนวันเดินทางมาถึงผมจึงเตรียมหาทั้งหนังสือคู่มือและเที่ยวท่องโลกไซเบอร์อยู่เป็นนานสองนาน แต่ทันทีที่แรกพบได้สบตากับเชียงรุ่ง อดีตอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองหลวงของชาวไทลื้อเมื่อราว 1,000 ปีก่อน ทำเอาจินตนาการของผมมลายหายไปสิ้น ทั้งนี้เพราะความยิ่งใหญ่และความทันสมัยเข้ามาแทนที่ เชียงรุ่งปัจจุบันมีทั้งย่านธุรกิจการค้าและโรงแรมที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขง แต่เดิมตัวเมืองชียงรุ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหล่านซางหรือล้านช้างตามชื่อเรียกของคนท้องถิ่น ไกด์เล่าว่าเชียงรุ่งเป็นเช่นเดียวกับหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ของจีนที่โตวันโตคืนบันดาลได้ราวกับต่อชิกซอว์ ผมชอบใจในการสรรหาคำมาเปรียบเทียบของไกด์ซึ่งพิสูจน์ได้ไม่ว่าจะเหลียวมองไปทางไหนล้วนมีแต่การก่อสร้างและปรับปรุง หากวันพรุ่งผมมีโอกาสได้มาเยือนอีกครั้งคงบอกไม่ได้ว่าเชียงรุ่งจะพัฒนาไปสักเพียงใดในเมื่อทุกอย่างเติบโตเร็วราวกับเนรมิต
ตำนานของเมืองเชียงรุ่ง ด้านหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตำนานทางพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น เล่าขานกันสืบต่อมาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเผยแพร่พระพุทธศาสนาผ่านมารุ่งเช้าที่นี่พอดี จึงเป็นที่มาของคำว่า เชียงรุ่ง หรือดินแดนแห่งรุ่งอรุณ อีกด้านหนึ่งเล่าว่า เชียงรุ่ง คือชื่อเดิมของพญาเจือง ปฐมกษัตริย์ของสิบสองปันนา หรือที่จีนเรียกว่า เชอลี หรือ เช่อหลี่
ชาวไทลื้อในสิบสองปันนานิยมตั้งถิ่นฐานชุมชนและเมืองอยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรโดยมีภูเขาล้อมรอบ สภาพทางภูมิศาสตร์จึงทำให้เมืองแต่ละเมืองเหมือนถูกแยกออกจากกัน ขาดความเป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่นความเป็นอาณาจักรจึงอ่อนแอไม่เหมือนรัฐไทอื่นๆ เช่น เชียงตุง หรือ ล้านนา อาณาจักรเชียงรุ่งหรืออีกชื่อหนึ่งคืออาณาจักรสิบสองปันนา ประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่กว่า 30 เมือง สมัยเจ้าอิ่นเมืองได้จัดแบ่งหัวเมืองเหล่านี้เป็น 12 กลุ่ม กลุ่มละปันนา (1,000 นา) [นาคือหน่วยวัดเนื้อที่ของชาวไทลื้อ, 1 นา มีพื้นที่ 4 ตารางเมตร 100 นา คือพื้นที่ 400 ตารางเมตร] แต่ความหมายปันนา (พันนา) ใช้เรียกหัวเมืองเหล่านี้แต่ไม่ได้หมายถึงมีเนื้อที่เพียงหนึ่งพันนาหรือ 4,000 ตารางกิโลเมตร ความหมายของคำว่า สิบสองปันนา จึงมาจากการแบ่งเขตการปกครองดังกล่าวเป็น 12 หัวเมือง ที่เรียกว่า 5 เมิงตะวันตก 6 เมิงตะวันออก (เมิง หมายถึง เมือง) โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นหลักในการแบ่ง ประกอบด้วย
1) เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ รวมเป็น 1 พันนา
2) เมืองแช่ เมืองเชียงลู เมืองออง รวมเป็น 1 พันนา
3) เมืองลวง 1 พันนา
4) เมืองหุน เมืองพาน เมืองเชียงลอ รวมเป็น 1 พันนา
5) เมืองฮาย เมืองเจือง รวม 1 พันนา
6) เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
7) เมืองล้า เมืองบ่าน รวมเป็น 1 พันนา
8) เมืองฮิง เมืองบ่าง รวมเป็น 1 พันนา
9) เมืองเชียงเหนือ เมืองลา และเมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
10) เมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน รวมเป็น 1 พันนา
11) เมืองอูเหนือและเมืองอูใต้ รวมเป็น 1 พันนา
12) เมืองเชียงทอง เมืองอีงู เมืองอีปัง เมืองบ่อล่า รวมเป็น 1 พันนา
เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีที่นากว้างขวางก็มักได้รับสมญา เช่น “สี่หมื่นไร่เมืองลา
สี่หมื่นนาเมืองแช่” หรือเมืองฮายที่เป็นศูนย์กลางการค้าใบชาและการบูร ในจดหมายเหตุของจีนบันทึกไว้ว่าสิบสองปันนาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นชาพูเออ ซึ่งเป็นชาชั้นดี นอกจากนี้เมืองฮายยังเป็นเมืองสำคัญในด้านการค้าระหว่างสิบสองปันนากับพม่าและอาณาจักรล้านนา รวมทั้งกับจีนและทิเบต
การดำรงอยู่ของอาณาจักรเชียงรุ่งหรือสิบสองปันนาในอดีตมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและพม่าเสมอมาในฐานะเมือง “สองฝั่งฟ้า” โดยยอมเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองชาติและถือเอา “ฮ่อเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่” กล่าวคือมีจีนเป็นพ่อมีพม่าเป็นแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด แต่อิทธิพลที่จีนและพม่าเข้าครอบงำโดยตรงนั้นทำได้ยากเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขายากลำบากต่อการเข้าถึง
ในหมู่บ้านไทลื้อที่กะหลั่นป้าห่างจากเชียงรุ่งลงมาทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อที่ทางการจีนได้อนุรักษ์ไว้ คล้ายกับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนที่นี่มีราว 200 หลังคาเรือน พวกเขายังคงดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรอยู่ริมแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลั่นซางหรือล้านช้าง สภาพบ้านเรือนที่เราเห็นเป็นหลังคาทรงปั้นหยาทำด้วยไม้ เสาบ้านวางอยู่บนตอหม้อทำจากหิน ฝาบ้านแอ่นเอนลู่ส่วนบนบานขึ้นรับกับหลังคาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของบ้านแบบชาวไทลื้อ ใต้ถุนบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงทอผ้า ปั่นด้าย มีครกกระเดื่องตำข้าว กลางชุมชนมีวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับชนชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทลื้อ ชื่อวัด สวนหม่อน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดมหาราชฐานสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1126 มีอายุมากกว่า 1400 ปี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทลื้อ ศิลปกรรมการก่อสร้างอ่อนช้อยสวยงามคล้ายกับศิลปะแบบล้านนา ในสมัยที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรมนอกจากได้ทำลายการสืบทอดเชื้อสายของกษัตริย์แห่งเชียงรุ่งแล้ววัดทางพุทธศาสนาได้ถูกทำลายลงไปมาก ชาวไทลื้อที่นี่ได้ใช้กุศโลบายอันแยบยลตบตารัฐบาลจีนในสมัยนั้นโดยปล่อยทิ้งให้วัดแห่งนี้เป็นวัดร้างอยู่นานร่วม 20 ปี ไม่มีการทำกิจกรรมทางศาสนาใดๆ บริเวณวัดใช้เป็นที่เลี้ยงวัวควาย ในโบสถ์ใช้เป็นยุ้งฉาง จึงทำให้สามารถรักษาวัดเอาไว้ได้ ภายหลังเมื่อมีการผ่อนปรนกฏระเบียบชาวบ้านจึงกลับมาบูรณะฟื้นฟูใหม่ และเมื่อการคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้นวัดนี้จึงได้รับการช่วยเหลือทั้งในด้านเงินบริจาคและปัจจัยมากมายจากนักท่องเที่ยวชาวไทย หากมองอย่างผิวเผินเมื่อเราเดินอยู่ในชุมชนบ้านกะหลั่นป้าให้ความรู้สึกคล้ายกับเราเดินอยู่ในชนบทไทยสักแห่งในภาคเหนือ ถึงแม้จะเป็นการรื้อฟื้นและถูกปรุงแต่งขึ้นมาใหม่แต่บรรยากาศและกลิ่นอายเรายังคงสัมผัสได้อยู่
ผมแวะขึ้นไปพูดคุยบนบ้านหลังหนึ่งตามคำชักชวนของเจ้าของบ้านที่เป็นหญิงวัยเลยกลางคนในหมู่บ้านกะหลั่นป้า ผมถามด้วยบทสนทนาง่ายๆ เธอตอบกลับมาด้วยภาษาที่ฟังดูคล้ายสำเนียงทางเหนือหรืออีสาน “กำลังทำอะไรอยู่ครับ?” “เฮ็ดการ” เธอตอบขณะที่มือเธอเพิ่งละจากผ้าที่กำลังปักชุนอยู่ “มีลูกกี่คน?” “มีลูกสองโต๋เปิลไปเฮ็ดการอยู่คุนหมิง” เธอตอบก่อนลุกไปชงน้ำชามาต้อนรับ ผมกวาดสายตาเหลียวมองไปรอบๆ เห็นว่าเป็นบ้านที่มีห้องรับแขกขนาดใหญ่ตามธรรมเนียมของชาวไทลื้อถือว่าเป็นห้องที่สำคัญที่สุดในบ้าน มีไว้สำหรับรับรองและเป็นที่พักหลับนอนของแขกผู้มาเยือนรวมทั้งเป็นห้องนั่งเล่นทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของคนในครอบครัว ส่วนห้องนอนของเจ้าของบ้านเป็นเพียงห้องเล็กๆ ไม่พิถีพิถันเท่าใดนัก
“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
การแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายสิบสองปันนาเป็นเหตุให้มีการขอกองกำลังจากล้านนาไปช่วย เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงยกกองกำลังไปตีเชียงรุ่ง 2-3 ครั้ง ในระหว่างปี ค.ศ. 1806-1815แต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ แต่การถอยทัพทุกครั้งมักจะกวาดต้อนผู้คนกลับมาใส่บ้านเมืองของตนด้วยเพื่อฟื้นฟูและสร้างอาณาจักร นั่นเป็นความสัมพันธ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ระหว่างอาณาจักรล้านนาของไทยกับสิบสองปันนานอกเหนือจากด้านการค้า สมัยไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่าคนไทยก็เคยถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่หงสาวดีและมัณฑะเลเป็นจำนวนมากเช่นกัน เรียกกันว่าพวก โยเดีย คือพวกที่มาจากอยุธยา ด้วยเหตุนี้จังหวัดทางภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน จึงมีลูกหลานไทลื้อหลายชุมชนสืบทอดเชื้อสายและขนบประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตกลางคืนของเมืองเชียงรุ่งหรือ “จิ่งหง” (Jinghong) ในภาษาราชการของจีน วันนี้มีแสงสี จากผับ บาร์ และสถานเริงรมย์ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกโค้งถนนเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว มีการจัดการแสดงที่บ่งบอกถึงประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่โรงละครพาราณสีเป็นประจำทุกคืน นอกเหนือจากความงดงามอลังการของแสงและเสียงแล้วทุกฉากยังเต็มไปด้วยความหมายโดยมีจุดขายคือความเป็นไทลื้อ การแสดงทุกรอบจึงหนาแน่นและคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตอนกลางวันในย่านศูนย์การค้าผู้คนมาเดินช้อปปิ้งกันค่อนข้างหนาตา ผมสังเกตเห็นลวดลายตามซุ้มประตูในตัวเมือง รูปปั้น และอาคารน้อยใหญ่รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นิยมใช้สัญลักษณ์รูปช้างและนกยูงมาประดับตกแต่ง เข้าใจว่าผู้สรรสร้างคงต้องการสื่อให้รู้ถึงความเป็นมาของอาณาจักรล้านช้างและสิบสองปันนาของชนกลุ่มน้อยชาวไทลื้อที่วันนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 300,000 คน
วันเดินทางกลับมาถึงเร็วกว่าที่คิด เราออกเดินทางแต่เช้าตรู่จากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า มุ่งหน้าลงใต้มาตามลำน้ำโขงสายน้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนในชุมชนอุษาคะเนย์หลายร้อยล้านคน อุณหภูมิที่ลดต่ำในหน้าหนาวเปลี่ยนมวลอากาศเป็นละอองหมอกหนาลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือผิวน้ำใส เงาตะคุ่มๆ ของเรือโดยสารข้ามฝั่งแล่นผ่านเราไปเป็นระยะๆ ระลอกคลื่นจากเรือแหวกคว้านผืนน้ำเป็นวงกว้างไล่ไปกระทบแก่งหินริมฝั่งทั้งสองฟาก นอกหน้าต่างลำเรือที่เหนือระดับสายตาขึ้นไปเป็นภูเขาสีเขียวสูงละลิ่ว สีเขียวที่เห็นเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของสิบสองปันนาคือยางพาราสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรมใหม่ เรียงหน้ามาให้เห็นลูกแล้วลูกเล่าไกลสุดหูสุดตา
การเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ในแม่น้ำโขงจีนเป็นฝ่ายผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวด้วยว่าเหนือขึ้นไปในแผ่นดินใหญ่ในตอนกลางของประเทศ จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไว้หลายแห่งทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำมีน้อยการคมนาคมเดินเรือขนาดกลางในลำน้ำโขงด้านใต้เขื่อนจึงต้องอาศัยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยหนุน ด้วยเหตุนี้การเดินเรือช่วงจากสิบสองปันนาลงมาชียงแสนจึงมีแต่จีนเท่านั้นที่สามารถทำได้ ในหน้าแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเกษตรและการคมนาคมในประเทศตอนล่างอย่าง ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม จึงมีการจัดประชุมร่วมของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อจัดสรรและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
ท่าเรือกุ้ยเล่ย (Guan Lei) เป็นท่าเรือสุดท้ายชายแดนจีน ก่อนที่เรือจะนำพาเราเข้าสู่ดินแดนรอยต่อของสามประเทศ จีน เมียนม่าร์ และลาว เรียกกันว่า สามเหลี่ยมมรกต จะตั้งชื่อเพื่อให้คล้องจองกับ ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อของสามประเทศ ไทย เมียนม่าร์และลาว หรือไม่ผมไม่มีข้อมูลแต่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าไม้บนภูเขาสองฝั่งโขงบริเวณนี้ทำให้ผมนึกโยงไปถึงวันวานที่เราเข้าชมสวนป่าดงดิบ (Forest Park) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรุ่งมากนัก ที่นั่นมีพืชพันธุ์เขียวขจีมีป่าไผ่ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกยูง สัตว์ที่ชาวไตลื้อถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความสุข และความดี ดังข้อความตรงปากทางเข้าสวนที่เขียนเป็นภาษาจีน อังกฤษ และไทย มีใจความว่า...
“Xeshuangbanna is the home of peacocks. In the eye of the Dai people, peacocks are symbols of happiness, beauty and good fortune…”
จากสวนป่าธรรมดาจีนสามารถจัดการให้แตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ผมจึงไม่แปลกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสายจนรถไฟฟ้านำชมในอุทยานให้บริการไม่ทัน ในสวนป่ามีนกยูงมากกว่า 300 ตัว ถูกปล่อยเลี้ยงให้หากินตามธรรมชาติแต่มีอาหารเสริมให้บางเวลา สัญญาณนกหวีดจากเจ้าหน้าที่ที่ให้อาหารสามารถเรียกนกยูงนับร้อยๆ ตัวให้บินลงมายังลานนัดหมายในเวลาเดียวกันจากขุนเขาที่อยู่รายรอบ เราต่างแตกตื่นแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ชัตเตอร์ กล้องถ่ายรูปทุกตัวระรัวถี่ยิบ เมื่อได้เวลาเขาก็บินจากไป เป็นอีกเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเป็นบ้านเกิดของนกยูงได้อย่างแจ่มชัด
ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าอาข่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของสวนป่าดงดิบที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชายเป็นจะเป้าหมายให้เข้าร่วมพิธีแต่งงานกับหญิงสาวชาวอาข่า เป็นการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมในบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง แฝงอุบายด้วยการหารายได้จากกระเป๋านักท่องเที่ยวในฐานะเจ้าบ่าวที่ต้องจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าสาวคนละ 50 หยวนแลกกับการถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกหรือให้ระทึกเมื่อกลับมาถึงบ้าน
แม่น้ำโขงช่วงที่กั้นระหว่างเมียนม่าร์กับลาวไหลคดเคี้ยวกระแสน้ำแรงและเชี่ยวกราดเพราะผ่านพื้นที่ภูเขาสูงมีเกาะแก่งและโขดหินน้อยใหญ่ตะปุ่มตะป่ำงดงามแต่เป็นอุปสรรคและอันตราย กัปตันเรือต้องใช้ทักษะและความชำนาญเป็นพิเศษ ไกด์บนเรือชี้ชวนให้ดูความงามของเกาะแก่งโขดหินหลายสีสันและรูปทรงพร้อมสาธยายความหมายเพื่อประดับความรู้
หินสีเขียวนั่นหมายถึงมีส่วนผสมของแร่ทองแดง
หินสีมันวาวออกสีน้ำตาลเข้มคือแร่แมงกานีส
หินขรุขระตะปุ่มตะป่ำสีดำแต่มันวาวเมื่อกระทบแสงแดดคือ ถ่านหิน
ก่อนนี้มีเกาะและแก่งหินมายมายในแม่น้ำโขงแต่เมื่อจีนเริ่มเปิดเส้นทางการสัญจรทางน้ำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนได้ระเบิดทำลายปราการด่านธรรมชาติเหล่านี้ลงไปบ้าง บางช่วงของการเดินทางเรือของเราเจอเข้ากับสันดอนทรายตื้นเขินจนหมุนคว้างกลางลำคลำหาร่องน้ำกันใหม่ การคมนาคมในแม่น้ำโขงยามหน้าแล้งจึงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย
ดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าเรือก็ลอยลำนำพาพวกเราเขยิบเข้าใกล้ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำทุกขณะ ผมพาตัวเองออกมานอกห้องโดยสารสู่ดาดฟ้าเรือเพื่อมาสัมผัสกับแสงสุดท้ายแห่งวัน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเหลี่ยมในดินแดนลาวมีโรงแรมและคาสิโนขนาดใหญ่โดยนักลงทุนชาวจีนที่ทำสัญญาเช่า 99 ปี กับรัฐบาลลาว เริ่มเปิดไฟสว่างไสวเพื่อเชิญชวนลูกค้า ฝั่งตรงข้ามเป็นเหลี่ยมในดินแดนของเมียนม่าร์มีแม่นำสายน้อยๆ สายหนึ่งชื่อแม่น้ำฮวกไหลจากเมืองเชียงตุงลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เรียกกันว่า สบฮวก บริเวณสบฮวกในฝั่งเมียนม่าร์ก็มีคาสิโนและโรงแรมขนาดใหญ่ไม่น้อยหน้าเช่นกันแต่ที่นั่นสัมปทานโดยนักการเมืองของไทย อีกด้านเป็นเหลี่ยมของฝั่งไทยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงปลายเหนือสุดของแดนสยาม บ่งบอกถึงเขตคามของดินแดนสุวรรณภูมิ ผมรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกในความช่างคิดให้แตกต่างบาดความรู้สึกผู้คนที่สัญจรหรืออย่างน้อยก็ในสายตาของนักขุดทองหรือนักพนันทุกสัญชาติ
พลบค่ำเรือลอยลำช้าๆ เข้าเทียบท่าที่อำเภอเชียงแสน
“หนทางไม่ได้เดินเพียงสามวันหญ้าก็ขึ้น ญาติพี่น้องไม่ได้ไปมาหาสู่กันก็หลงลืมสูญหาย”
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการคมนาคมขนส่งทำให้การไปมาหากันสะดวกกว่าแต่ก่อน กอปรกับสังคมที่เปิดกว้างขึ้นทำให้พี่น้องไทสองดินแดนสามารถเปิดประตูเชื่อมถึงกันได้ กาลที่ผ่านมาวัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทลื้อในสิบสองปันได้สะท้อนภาพความเป็นไทและโฉมหน้าของบรรพบุรุษไทให้เราเห็นได้อย่างแจ่มชัด กาลข้างหน้าเราอยากเห็นลูกหลานไทลื้อในสิบสองปันนาสามารถสืบทอดมรดกอันล้ำค่าของวิถีไทเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้รับช่วงสานต่อ
ลึกๆ ผมแอบคิดภาวนาในใจไม่อยากให้วันนั้นมาถึง...
วันที่หยดหนึ่งของสายเลือดไทในแผ่นดินใหญ่จีน ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามของชาวไทลื้อต้องเลือนหายไปกับแผ่นดินแม่

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี
บุญทัน พาหา... เรื่อง/ภาพ

หากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวสักแห่งหนึ่งซึ่งเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนทั่วโลกนับล้านๆ ที่มีพื้นฐานและมีที่มาแตกต่างกันหนึ่งในนั้นผมกล้าฟันธงว่าคือ...บาหลี
วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออมตะกล่าวไว้ว่า “Seeing is Believing” การพบเห็นสร้างความน่าเชื่อถือ ความหมายโดยนัยคือเรื่องบอกเล่ามากมายที่ได้รับรู้หาได้สร้างความตระหนักและลึกซึ้งได้เท่ากับเรื่องราวที่ได้พบเห็นมาด้วยตาตนเอง ชื่อเสียงของเกาะบาหลีที่ใครๆ ต่างพากันพูดถึงแต่หากไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองผมคงไม่มีวันเที่ยวประชาสัมพันธ์บอกใครต่อใครได้ แม้จะมีเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 วัน กับการตระเวนไปไม่ทันได้สัมผัสลึกซึ้งอะไรแต่จิตใจกลับหลงใหลในบาหลีเสียเต็มประดา เปรียบปานอิเหนาหลงรักบุษบาเหมือนซมพลาหลงรักนางลำหับวรรณกรรมที่เลื่องชื่อของหมู่เกาะแห่งท้องทะเลใต้
บาหลี...ที่มา?
บาหลีเป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา เกาะที่มีความสำคัญมากที่สุดของอินโดนีเซียเพราะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง จาการ์ต้า (Jakarta) อดีตในยุคล่าอาณานิคมหมู่เกาะแห่งอินโดนีเซียได้รับการขนานนามจากชนชาตินักล่าว่าหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมการค้าทางทะเลระหว่างตะวันออกไกลคือจีนและญี่ปุ่นกับประเทศตะวันตกในเส้นทางเดินเรือสมัยก่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศจำพวกพริกไทย กระวาน กานพรู ฯลฯ ที่สำคัญของโลกในแถบหมู่เกาะโมลุกะ (Molucca) และสุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดของชาติตะวันตก คุณสมบัติที่พร้อมสรรพสำหรับการเป็นเมืองขึ้น หมู่เกาะอินโดนีเซียจึงมีหน้าประวัติศาสตร์เคยถูกยึดครองโดยชนชาตินักล่าอาณานิคมหลายชาติมาอย่างยาวนาน หลังได้รับเอกราชจากดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2492 หลังจากที่คาราคาซังยืดเยื้อมานานเพราะดัตช์หวงแหนดินแดนแห่งนี้มาก อินโดนีเซียก็กลายเป็นประเทศเอกราชใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกกว่า 18,000 เกาะ เรียงรายกระจายอยู่ในน่านน้ำของสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก คาบเกี่ยวอยู่ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เพราะมีหมู่เกาะทอดตัวยาวไกลจากทวีปเอเชียไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย
ปัจจุบันเกาะบาหลีมีฐานะเป็นจังหวัดของหนึ่งอินโดนีเซียมีประชากรสามล้านกว่าคน มีพื้นที่ประมาณ 5,620 ตารางกิโลเมตร มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 90 กิโลเมตร ตะวันออกไปตะวันตก 140 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะทางตอนกลางของประเทศในกลุ่มหมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบาหลีมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายจิงโจ้กำลังกระโดด ติ่งที่ยื่นมาตรงส่วนขาของจิงโจ้คือที่ตั้งของเมืองหลวงเดนพาซ่าร์ (Denpasar) แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ทว่ามีความหลากหลายทางธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือพื้นที่ทางตอนกลางเป็นภูเขาไฟสูงเสียดสายหมอก พื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างแห้งแล้งเขตตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่การเกษตรนาขั้นบันไดที่เรียกกันว่า ซะวาห์ (Sawah) ในด้านเศรษฐกิจบาหลีนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียทั้งมวล ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกสร้างรายได้ให้ประเทศปีหนึ่งๆ มากมายถึงหนึ่งในสามของรายได้มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ที่รีสอร์ท Kind Villa Bintang อันเป็นที่พักมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายเดินทางมาจากทุกทวีปทั่วโลก นักท่องเที่ยวจากอเมริกาบินต่อมาจากเกาะฮาวายเพียงใกล้ๆ ก็ถึงบาหลี นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียพบเห็นมากที่สุดที่นี่เพราะบาหลีเป็นเสมือนเพื่อนบ้านของเขา ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปพบว่าส่วนใหญ่มาจากฮอลแลนด์ดินแดนที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียมาก่อน นักท่องเที่ยวทั้งหลายย้ำชัดถึงจุดขายของบาหลีที่แตกต่างไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ คือ ด้านวัฒนธรรม แต่กระนั้นในด้านธรรมชาติ ทั้งชายหาด อากาศ ป่าไม้ ภูเขา เราต่างเห็นพ้องกันว่าบาหลีมีดีไม่เป็นรองใคร สมแล้วกับสมญานามมากมายที่เธอได้รับ
บาหลี...ดินแดนแห่งเทพเจ้า
บาหลี...อัญมณีแห่งเอเชีย
บาหลี...สวรรค์บนดิน
บาหลี...ที่เป็น?
อารยธรรมศิวิไลซ์ของโลกยุคใหม่ซึ่งไร้พรหมแดนหรือที่เรียกกันว่า โลกาภิวัตน์ ได้ทำลายวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของประเทศหรือชุมชนน้อยใหญ่ทั่วโลกมามากมายนักต่อนัก ทุกอย่างดูจะก้าวย่างไปในทิศทางเดียวกันผิดกันตรงที่ช้าบ้างเร็วบ้าง สิ่งที่นักท่องเที่ยวได้เห็นกลับเป็นเพียงวิหารที่ว่างเปล่าหรือเพียงร่องรอยกับกลิ่นอายที่แตกต่าง เป็นกระแสที่ยากจะต้านฝืน แต่ที่บาหลีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กระแสที่ทรงพลังอันเชี่ยวกราดได้ไหลผ่านไปราวกับไร้แรงต้านแต่บาหลีก็ยังคงยืนกรานตระหง่านอยู่ได้ดุจไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุที่พัดโหมกระหน่ำ เป็นเช่นนี้มานานหลายชั่วอายุคนนานนับพันปีมาแล้ว
วัดหรือศาสนสถานของฮินดูซึ่งมีอยู่มากมายกว่า 200 วัด ในบาหลีกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในการมาเยือนบาหลี วัดที่นี่สื่อให้เห็นถึงความยึดมั่นศรัทธาในศาสนาผนวกกับความเชื่อของท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัด ชาวบาหลีได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ที่แพร่ขยายมาจากประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อน ซุ้มประตูทางเข้าวัดสื่อสัญญาณถึงเทพเจ้าที่ชาวบาหลีเคารพคือพระศิวะ ชาวบาหลีเชื่อว่าพระศิวะคือเทพผู้สร้างบาหลีขึ้นมาโดยแบ่งภาคลงมาเกิดเป็นภูเขาไฟสองลูกซึ่งตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันทางตอนเหนือของเกาะและมีความสูงเป็นอันดับหนึ่งและสองในเกาะบาหลี คือ ภูเขาไฟ กุงนุงอากุง (Gunung Agung) กับกุงนุงบาตู (Gunung Batur) ทั้งสองเป็นภูเขาไฟที่ไม่หลับใหลยังคงคุกรุ่นอยู่ ชาวบาหลีเคารพบูชาเสมือนเป็นภูเขาพ่อภูเขาแม่ที่คอยปกป้องคุ้มครองลูกๆ ด้วยเกรงว่าหากไม่เคารพบูชาหรือหากกระทำในสิ่งที่ไม่ดีก็อาจทรงพิโรธนำภัยพิบัติคือพ่นเถ้าถ่านลาวามาทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ สื่อสัญลักษณ์แห่งความเชื่อความศรัทธาในภูเขาไฟของชาวบาหลีสังเกตได้จากซุ้มประตูทางเข้าวัดหรือศาสนสถาน ซุ้มเบื้องขวาที่สูงกว่าแทนภูเขาไฟกุงนุงอากุง ส่วนเบื้องซ้ายแทนภูเขาไฟกุงนุงบาตู
ภายในวัดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้และส่วนภายในเป็นส่วนเฉพาะของพราหมณ์ที่เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ระดับของพราหมณ์ในบาหลีแบ่งได้สองระดับคือ ปะดันดา กับ ปะมังกู พราหมณ์ปะดันดาถือเป็นพราหมณ์ชั้นสูงสามารถเสกน้ำมนต์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ส่วนพราหมณ์ปะมังกูเป็นพราหมณ์ในระดับรองลงมาทำหน้าที่เพียงนำสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆ
ชาวฮินดูในบาหลีไม่ได้มีการแบ่งชั้นวรรณะ (Caste) เหมือนกับประเทศอินเดีย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในวัดตลอดถึงดำเนินชีวิตตามปกติจึงไม่มีให้เห็นเช่นเดียวกับในประเทศไทยที่วัด Pura Tirta Empul หรือวัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เราเห็นชาวฮินดูในบาหลีมาทำพิธีไหว้พระและอาบน้ำพุร้อนกันตลอดทั้งวันโดยไม่ยี่หระสนใจสายตาของนักท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคู่ที่จับจ้องมองด้วยความสนใจ
ในเส้นทางมาสู่วัดสำคัญๆ เราได้พบเห็นกับภาพที่น่าอัศจรรย์เมื่อชาวบ้านหญิงชายเด็กและผู้ใหญ่แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเดินเทินดอกไม้เครื่องเซ่นไหว้บูชาไว้เหนือศีรษะเดินทางเป็นแถวแนวลดหลั่นตามไหล่เขามุ่งหน้าไปยังวัดที่เขานับถือเพื่อประกอบพิธีกรรม ชาวฮินดูในบาหลียังคงยึดมั่นในศาสนารักษาและสืบทอดประเพณีที่ว่านี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับพันพันปีไม่มีเปลี่ยนแปลง มีวัดที่สวยงามมากมายกระจายอยู่ทั่วเกาะบาหลี สอบถามจากเพื่อนๆ และนักท่องเที่ยวหลายๆ คนต่างเห็นตรงกันว่าวิถีชีวิตเฉกเช่นนี้หละที่สร้างความต่างเป็นสีสันและเสน่ห์ที่ตราตรึงเมื่อนึกถึงบาลี
ยังมีอีกหลากหลายเกร็ดความเชื่อหลากหลายวิถีที่บาหลีได้โปรยเสน่ห์ให้คนแปลกหน้าหลงใหล เช่น ในเส้นทางที่เราท่องไปได้พบเห็นรูปเคารพเป็นเทพเจ้าเด็กๆ มากมาย เป็นงานประติมากรรมลอยตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง นั้นเป็นอีกความเชื่อของชาวบาหลีที่มีต่อเด็กเกิดใหม่ ชาวบาหลีเชื่อว่าเด็กเป็นการกลับชาติมาเกิดของบรรพบุรุษ จึงมีพิธีกรรมและข้อห้ามมากมายโยงใยไปถึงความเชื่อดังกล่าว เช่น ภายใน 105 วัน เท้าของเด็กเกิดใหม่จะต้องไม่สัมผัสกับผิวดิน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุไม่ดีขึ้นกับเด็ก การตะไบฟันให้กับเด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นมาเพื่อลบฟันเขี้ยวออกไปเพราะชาวบาหลีเชื่อว่าฟันเขี้ยวหมายถึงวิญญาณสัตว์ร้ายที่อยู่ในตัวเด็ก รวมถึงประเพณีบุญวันเกิดที่มีการทำธงทิวริ้วต้นไผ่ทั้งลำประดับประดาหน้าบ้านสวยงามเป็นแถวแนวเก่าใหม่สลอนอยู่สองข้างทาง
ในด้านธรรมชาติบาหลีก็มีจุดดึงดูดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นาขั้นบันไดเป็นจุดขายที่ใครได้ไปเยือนก็กล่าวขวัญถึงความงดงามเขียวขจีของนาแปลงน้อยที่ลดหลั่นลงมาตามไหล่เขา เราเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา ชาวบาหลีฟัดข้าวทันทีที่เกี่ยวเสร็จด้วยแรงมือโดยไม่รอตากให้แห้ง บาหลีมีหาดทรายขาวเรียงรายอยู่รอบเกาะ ทะเลกับหาดทรายในเขต Tropical เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากเมืองหนาวได้ดีเสมอ ธรรมชาติของผืนป่าและขุนเขาบาหลีก็มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นผลมาจากอิทธิพลของภูเขาไฟมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์แบบขึ้นในบาหลีที่เห็นเด่นชัดคือ ธรรมชาติบริเวณหมู่บ้านคินตามณี (Kintamani) และทะเลสาบกุงนุงบาตูที่เกิดจากการยุบตัวของการระเบิดของภูเขาไฟกุงนุงบาตู เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดแวะพักชมวิวทิวทัศน์และสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นที่สำคัญของผู้มาเยือน
บาหลี...ที่ไป?
“คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ” นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ที่ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมอยู่ในอินโดนีเซียและบาหลีได้เสนอแนวคิด “วิวัฒน์เวียนวน” (Agricultural Innovation) ซึ่งเป็นทฤษฎีของระบบภาคเกษตรมาอธิบายแบบแผนทางวัฒนธรรมในบาหลีว่า... “เมื่อวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งวิวัฒนาการมาจนได้รูปแบบที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่อื่นๆ ได้อีก หากเพียงแต่ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่านั้น” แนวคิดนี้ได้สะท้อนความเป็นบาหลีออกมาได้อย่างชัดเจนว่า วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบาหลีเป็นเช่นนี้สืบต่อเนื่องกันมายาวนานจนเป็นรูปแบบ การพัฒนาได้ชะงักงันลงคล้ายกับการตกผลึกทางวัฒนธรรมที่ฝังรากแน่น
ในหน้าประวัติศาสตร์บาหลีเคยถูกปกครองโดยดัตช์มายาวนานเกือบศตวรรษ ถูกครอบครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอีกหลายบททดสอบที่บาหลีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
และเชื่อมั่นได้ว่าในวันข้างหน้าไม่ว่าจะอีกสักกี่ร้อยปีกี่พันปี... เมล็ดพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ยังคงแสดงวิถีแห่งบาหลีให้โลกในวันหน้าได้ประจักษ์ ผู้คนที่นี่ยังคงรักที่จะอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ อยู่กับพิธีกรรมที่มุ่งรักษาสมดุลทางธรรมชาติระหว่างความดีความชั่วอยู่ต่อไป
วันข้างหน้าของบาหลีก็คงก้าวย่างไปเฉกเช่นนี้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น...