วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

บุญทัน พาหา เรื่อง

ทันทีที่ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนพ้องน้องพี่นักศึกษาดีกรีปริญญาเอกสาขายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนารุ่นที่ 7 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่รวมตัวกันจัดโปรแกรมทัศนศึกษาและลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในลาวใต้ ผมรีบตกปากรับคำโดยไม่ลังเล...
การเดินทางครั้งนี้เราได้อาจารย์ใหญ่ คืออธิการบดี รศ.ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ที่ทำหน้าที่สารพัดอย่าง เป็นทั้งไกด์กิตติมศักดิ์ ครูผู้ควบคุมและวิทยากรภาคสนามพร้อมสรรพ ใน Trip นี้ เราต่างได้ตระหนักถึงคำว่าพหูสูตแห่งสหศาสตร์จากการชี้แนะบอกเล่าของท่าน การแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นในหมู่นักศึกษาเป็นไปในรูปของการ “Focus Group” แบบเข้มข้นตลอดเส้นทาง ความรู้ความเห็นจึงไหลหลั่งพรั่งพรูมาดุจสายน้ำโขงที่ไหลผ่านแก่งหินในน้ำตกหลี่ผีและสีทันดอน (สี่พันดอน) มีทั้งพลิ้วผ่านหนักแน่นและลุ่มลึก บางความคิดความเห็นแตกกระสานซ่านเซ็นออกนอกกรอบไปบ้างก็ได้อาจารย์ใหญ่คอยชี้แนะและตะล่อมกลับมาสู่ครรลอง
การเดินทางใน Trip นี้จึงเน้นไปที่ภาควิชาการที่ต้องบันทึก ส่วนภาคบันเทิงเป็นเพียงความสุนทรีจากวิถีชีวิตผู้คนและแง่งามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์เอาไว้ให้ลาว
“อ้าย ๆ ตะกร้าหวายบ่จ้า”
เสียงเรียกร้องเชิญชวนให้ซื้อตะกร้าหวายของแม่ค้าริมฟุตบาทขณะคณะยืนรอพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของลาวตรงข้ามพรมแดนด่านช่องเม็กอำเภอพิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี ที่มาของเสียงเป็นแม่ค้าร่างเล็กแทรกตัวอยู่ตรงกลางแผงขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหวายและไม้ไผ่ซึ่งมีหลากหลายขนาดและรูปแบบ ทั้งเตียงนอน เก้าอี้ หมอนหนุนนอน ถัดไปเป็นแผงขายพันธ์กล้วยไม้ป่าและผ้าพื้นเมือง ยังมีแผงขายซีดีหนัง เพลงไทย และเพลงสากลใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ของแท้ผสมปนเปไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนหลายรายการ ด่านตรงพรหมแดนก็เหมือนประตูหรือหน้าต่างที่บอกให้คนข้างนอกรู้เห็นความเป็นไปของคนข้างในบ้านได้บ้าง ร้านค้าหรือสินค้าที่วางขายก็สะท้อนได้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภายใน
ครั้งหนึ่งผู้รู้เคยบอกผมว่า ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเขตร้อนคือหวายกับเถาวัลย์ เสียงร้องเรียกของแม่ค้าตะกร้าหวายเมื่อครู่ เร่งให้หลายคนอยากรู้ว่าผืนป่าที่ลาวใต้จะสมบูรณ์สักเพียงใด
เพียงแรกสัมผัสผมก็เริ่มเห็นความแตกต่าง!!
ทิวทัศน์สองข้างทางเมื่อมองจากช่องหน้าต่างรถบัสปรับอากาศทำในเกาหลี ก็เห็นบ้านเรือนผู้คน ทุ่งนาสลับกับทิวป่า มีฉากหลังเป็นเทือกเขาสีเทาลดหลั่นเป็นชั้นๆ ไปบรรจบกับเส้นขอบฟ้าสีเงินยวงด้านทิศตะวันตก แรกนั่งเราต้องตั้งสติกับระบบการจราจรที่เดินรถกลับด้านกับฝั่งไทย กลัวว่ารถที่แล่นสวนมาจะพุ่งเข้าหาแต่ไม่นานนักก็เริ่มคุ้นชิน ฝนเมื่อบ่ายวันวานทิ้งร่องรอยของความชื้นฉ่ำเอาไว้ ละอองไอของสายหมอกยังจับกลุ่มลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือทิวเขาและราวไพรสองฟากฝั่งเส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไปราวกับจงใจมาต้อนรับอาคันตุกะใหม่
สถานที่และบรรยากาศแปลกใหม่เรียกร้องความสนใจได้มากเสมอ !!!
หลายคนเหลียวซ้ายแลขวาอย่างใคร่รู้ ลางคนเริ่มคุยกับความคิดตัวเอง ใช่หรือไม่ว่า ความรู้สึกของคนเราบางครั้งเห็นก็เหมือนกับไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินในยามที่ครุ่นคิดหรือจิตดิ่งลึกอยู่ในห้วงจินตนาการ เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างลอยผ่านหน้า วันเวลาก็เช่นกันแม้ชั่วโมงนาทีจะมีค่าเท่ากันแต่ในห้วงทุกข์กับสุขเวลาย่อมสั้นยาวไม่เท่ากัน ความรู้สึกของผมในวันนั้นกับการเดินทางบนถนนแคบๆ แต่ราบเรียบความยาว 44 กิโลเมตร จากชายแดนช่องเม็กในฝั่งไทยหรือด่านวังเตาในฝั่งลาวสู่เมืองปากเซช่างเป็นระยะทางที่สั้นเพียงไม่กี่อึดใจก็ถึง
“พวกเราดูข้างล่าง...เร็ว”
เสียงอื้ออึงดังขึ้นเมื่อรถบึ่งมาถึงสะพานยาวข้ามโขงมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ก่อนเข้าสู่เมืองปากเซ ผมตื่นขึ้นจากภวังค์ความคิด สายตาหลายคู่ส่ายหาสาเหตุตามต้นตอของเสียง ความยาวของสะพาน... ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำ...หรือสาเหตุใด? ต่างคนอาจคิดและเห็นต่างกันไปตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน
“ดูดี ๆ เรากำลังข้ามผ่านพญานาคไป” เสียงเดิมจินตนาการไว้รอท่า
อาจเป็นเพราะคดโค้งแห่งสายน้ำกับลำแสงสุดท้ายแห่งวันที่ตกมากระทบ กอปรกับน้ำที่ไหลเอื่อยเฉื่อย วันนั้นผมและสายตาหลายคู่แลเห็นแม่น้ำโขงเป็นพญานาคขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื้อยอย่างเชื่องช้าลับหายไปทางหุบเขานางนอนทางตอนใต้ (เรื่องราวของพญานาคกับลำน้ำโขงคงเป็นตำนานมีชีวิต มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนบนสองฟากฝั่งเสมอมา)
เขานางนอนนั้นคือนางมะโรงตามตำนานส่วนเทือกเขาเบื้องซ้ายที่ทอดกายคู่ขนานกับลำน้ำโขงคือเท้าบาเจียง คู่รักที่ไม่สมหวังแห่งรัก เสียงวิทยากรจากกิจกรรม “Focus group” บนรถแว่วมาและคงดำเนินต่อไป เราได้ความรู้มากมายจากการผลัดเปลี่ยนกันมาอรรถาธิบายความของไกด์ดีกรีว่าที่ดอกเตอร์ทั้งหลาย คล้ายกับเป็นชุดวิชาเคลื่อนที่เป็น Study Tour อย่างแท้จริง กระแสความรู้ ความเห็นพรั่งพรูมาเป็นระลอกดุจสายน้ำ จนบางครั้งผมรู้สึกว่าครุถัง (คลังสมอง) ที่ผมมีอยู่และใช้บรรจุมันแคบและเล็กเกินกว่าจะรองรับไว้ได้หมด บางส่วนเสี้ยวของสายน้ำแห่งความรู้ที่ผมตักเก็บมาได้ในวันนั้นก็คือสิ่งที่อยู่ในมือท่าน ณ วันนี้
สะพานข้ามโขงแห่งใหม่นี้ให้ชื่อว่า สะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น สร้างขึ้นจากน้ำใจของชาวญี่ปุ่นที่แบ่งปันเงินเยนมาให้ ทำให้พี่น้องลาวตอนใต้กับไทยไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น เราแวะพักทานเที่ยงกันที่ภัตตาคารลอยน้ำเรือนแพคำฟอง ตั้งอยู่ตรงบริเวณเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ในเมืองปากเซ บริเวณอันเป็นที่มาของชื่อ “ปากเซ” เมืองเอกของแขวงหรือจังหวัดจำปาสัก (“จำปา” คือชื่อของดอกลั่นทมในภาษาลาว เป็นต้นไม้ประจำชาติของลาว ส่วนคำว่า “สัก” ก็คือการปักหรือปลูก กษัตริยในสมัยโบราณเชื่อว่าเมื่อได้นำเอาต้นกล้าของดอกจำปาไปสักหรือปักไว้ที่ใดหากต้นกล้านั้นเจริญงอกงามนั่นหมายความว่าสามารถสร้างเมืองตรงจุดนั้นได้) เมื่อแม่น้ำเซโดนไหลมารวมกับแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันออก “เซ” ในภาษาลาวหมายถึงสายน้ำใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น เซโดน เซกอง ส่วน “แซ” คือสายน้ำน้อย ๆ ที่ไหลลงสู่เซอีกทอดหนึ่ง ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งคราเข้าพักแรมที่เขื่อนสิรินธร สายน้ำสำคัญที่ถูกปิดกั้นเพื่อสร้างเขื่อนก็ชื่อ “เซโดน” เกิดจากแซหลายสายไหลมารวมกันก่อนจะมาเป็นเซโดน ห้องประชุมในอาคารสัมมนาที่นี่จึงมีทั้งชื่อ “แซน้อย” “แซใหญ่” การสื่อสารและความเข้าใจเรื่องภาษาของพี่น้องไทยและลาวแถบนี้แทบจะไม่ต้องตีความ เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายแห่งความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรจำปาสักโบราณทันทีที่ข้ามสะพานมา
ฝรั่งเศสสร้างเมืองปากเซสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1905 ราวหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน เป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นเมืองศูนย์กลางในลาวใต้ ที่นี่จึงมีศูนย์ราชการมากมายหลายแห่ง เป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจเพราะเป็นหน้าด่านที่ส่งออกและนำเข้าสินค้าของลาวในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต (ไทย ลาว กัมพูชา) เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและการคมนาคมเพราะเป็นชุมทางของทั้งสายน้ำและถนน หากคิดจะท่องเที่ยวไปในลาวใต้ที่นี่คือจุดเริ่มต้น เป็นต้นทางเพื่อไปยัง อัตตะปือ เซกอง และสาละวัน เหตุนี้จึงมีโรงแรมเก่าใหม่มากมายสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากไทยที่หลั่งไหลเข้าไปมากขึ้นทุกปีๆ
เราเลยผ่านปากเซไปโดยมีเป้าหมายค้างแรมที่รีสอร์ทผาส้วม (บ้างเขียน “ซ่วม” ในภาษาลาวหมายถึงห้องโถง ส่วน “ตาด” หมายถึงน้ำตก บ้างจึงเรียกกันว่า ตาดผาส้วม นอกจากนี้ยังมี ตาดฟาน ตาดเยือง ส่วนตาดคอนก็คือคอนพะเพ็ง) ในบรรยากาศอิงแอบแนบชิดธรรมชาติ บ้านพักถูกออกแบบและสร้างไว้อย่างกลมกลืนซุกตัวอยู่ในผืนป่ารายล้อมด้วยธารน้ำไหลและสายน้ำตก ภายหลังทราบว่าแนวความคิดเรื่องการสร้างบ้านพักที่นี่ถูกพัฒนามาจากแบบบ้านของชนเผ่าในลาวใต้ บางบ้านเป็นบ้านบนต้นไม้คล้ายบ้านทาร์ซานมีเถาวัลย์เป็นบันไดให้ปีนป่าย บางบ้านยื่นล้ำไปสู่ธารน้ำตกรับละอองไอจากสายน้ำราวกับนอนฟังเสียงฝนตก เตียงนอนทำจากกระดานไม้แผ่นเดียวผืนใหญ่ พื้นห้องน้ำมีก้อนหินน้อยใหญ่ให้เหยียบย่ำผ่อนคลายประสาทสัมผัสปลายเท้า หลังคาเป็นแบบเปิดประทุนด้านบนเปิดโล่งโยงท่อต่อน้ำมาจากลำธาร มีเครื่องปั่นไฟใช้เองเป็นไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทุกอย่างสอดรับกันอย่างลงตัวสมบูรณ์แบบในบรรยากาศที่ย้อนยุคไปหลายปีพอให้ได้รำลึก
คุณวิมล กิจบำรุง เจ้าของรีสอร์ทคนไทยที่ไปบุกเบิกอุทยานผาซ่วมครั้งแรก เล่าถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านแผ่นปลิวที่ทำขึ้นมาสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะใจความว่า เมื่อทางการ สปป.ลาว อนุญาติให้เขาเข้ามาพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเมื่อปีค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้ให้โจทย์มาข้อหนึ่งว่าโฉมหน้าใหม่ของผาส้วมจะต้องเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมของชนเผ่าควบคู่กันไป แต่ผาส้วม ณ เวลานั้นหาได้มีสภาพเช่นที่เห็นในวันนี้ไม่ ป่าเป็นป่าเสื่อมโทรม บนพื้นดินในพื้นน้ำไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลือ สัตว์น้ำ สัตว์ป่าถูกจับไปเป็นอาหารหมด ธารน้ำตกสกปรกรกตาด้วยขอนไม้ใหญ่ระเกะระกะ แก่งหินที่เบี่ยงบังทางน้ำ มิหนำซ้ำยังมีโรคร้ายและไข้ป่าชุกชุม
เมื่อเวลาผ่านไป… ดุจคนไข้ได้หมอดีรักษา ผาส้วมค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพพร้อมๆ ไปกับการก่อกำเนิดขึ้นมาของหมู่บ้านและพิพิธภัณฑ์ของชนเผ่า
ตัวน้ำตกผาส้วมซึ่งเป็นศูนย์กลางของรีสอร์ท มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเกือกม้า (Horse’s shoe) เมื่อธารน้ำทั้งสายไหลมาตกลงตรงหน้าผารูปเว้าโค้งทรงเกือกม้าส่งเสียงดังไปไกลหลายสิบเมตร ละอองความชื้นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จุดถ่ายรูปและชมวิวเป็นชะง่อนหินที่ยื่นออกไปเบื้องหน้าเสมอระดับผาน้ำตก ยังมีสะพานแขวนแบบชิงช้าซึ่งสร้างพาดผ่านโตรกธารหน้าผาน้ำตกเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เห็นวิวทิวทัศน์รอบทิศ ยามเดินผ่านไปยังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นร้านอาหารจะแกว่งไกวไหวโคลงเคลงและให้ความรู้สึกตื่นเต้นราวกำลังลอดซุ้มอุโมงเพราะร่มเงาของเถาและใบของต้นใบละบาทที่ปกห่มอยู่ด้านบน (ต้นใบละบาทเป็นไม้เถาใบหนาใหญ่มีดอกสีม่วงคล้ายดอกชะบา) ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้สมญาผาส้วมว่าเป็นมินิไนแองการ่าแห่งเอเชีย เพราะหน้าตาและรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน หากแตกต่างก็คงเพียงแค่ขนาดและบรรยากาศที่รายล้อม
หมู่บ้านของชนเผ่า (เฮือนชนเผ่า) ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับอุทยานผาส้วม มีทางเดินเป็นซุงไม้ตัดขวางปูเชื่อมต่อถึงกัน สภาพบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้ถูกอนุรักษ์ไว้ใกล้เคียงของเก่ามากที่สุด รวมทั้งกิจกรรมที่จัดไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นไปของผู้คนแต่ละชนเผ่าของลาวใต้
จุดดึงดูดสายตาทันทีที่ก้าวเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านชนเผ่าคือ หอสังเกตการณ์อเนกประสงค์ของเผ่าละแว ลักษณะเป็นเรือนเสาเดี่ยวตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เฉพาะเสามีความสูงราว 10 เมตร สร้างไว้เพื่อเฝ้าระวังเภทภัยต่าง ๆ เช่น จากสัตว์ร้าย ศัตรูและเอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน นอกจากนั้นยังมีไว้ให้หนุ่มสาวเผ่าละแวขึ้นไปพร่ำพรอดทำความรู้จักกันให้มากขึ้น โดยไม่มีการล่วงล้ำประเพณีอันดีงามเพราะถือว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ก่อนลงเอยด้วยการแต่งงาน
“กลิ้งครกจกสาว” เป็นประเพณีมีชื่อเสียงของชนเผ่าละแว ตัวเรือนมีใต้ถุนยกพื้นไม่สูงมากนักแบบบ้านสมัยโบราณ ห้องนอนของหญิงสาวจะเปิดช่องเล็กๆ ไว้ให้ชายหนุ่มมายืนพูดคุยมอบของขวัญให้แก่กัน สัมผัสมือไม้กันได้ “จก” หมายถึง จับหรือสัมผัส ส่วน“ครก” ก็คือครกตำข้าวที่ผู้บ่าวใช้เหยียบปีนขึ้นไปคุยกับสาว
เผ่ากะตูเป็นอีกเผ่าหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแต่งกายที่เสื้อผ้าและเครื่องใช้ทำมาจากปอกระเจาและวัสดุอื่นๆ จากธรรมชาติ ชนเผ่านี้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนแตกต่างจากเผ่าอื่นและยังมีศิลปะทางด้านการแสดงและดนตรีที่โดดเด่นในแบบฉบับของตนเอง
เผ่าแงะ ก็เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านชนเผ่าของอุทยานผาส้วม ดั้งเดิมของชนเผ่านี้มาจากเมืองกะลืมแขวงเซกอง พวกนี้เรียกตัวเองว่าเกรียง ข้อสังเกตคือจะมีนามสกุลที่มีคำว่า เกรียง อยู่ด้วย เช่น ชีพรูจะเกรียง เป็นต้น แต่จากการรวมชนเผ่าของทางราชการลาว ชนกลุ่มนี้จึงถูกรวมอยู่ในนาม เผ่าแงะ ในเวลาต่อมา
บริเวณลานกลางหมู่บ้านชนเผ่าเราได้เห็นหลักฆ่าควายของชนเผ่าแงะ เป็นเสาสูงประมาณ 2 เมตร ใช้สำหรับล่ามควายไว้ฆ่าในงานบุญ เราได้รู้ต่อมาว่าหากจะนับคำนวณความเก่าแก่ของชุมชนให้นับจากจำนวนหัวควายที่แขวนไว้ที่สมาคมหรือที่ทำการหมู่บ้าน เพราะปกติแล้วในประเพณีงานบุญของทุกปีชนเผ่าแงะจะมีการฆ่าควายกันปีละครั้ง ๆ ละหนึ่งตัวตามขนาดของชุมชนและเก็บหัวควายเอาไว้
เผ่าต่อมาคือเผ่ากะตาง มีความน่าสนใจและโดดเด่นมากในการแต่งกายโดยเฉพาะผู้หญิงที่ห้อยเครื่องประดับเป็นลูกปัดหินหลากสีมาห้อยคอและเจาะหูร้อยด้วยงาช้าง ชนเผ่านี้ดั้งเดิมมาจากเมืองตาโอยแขวงสาละวัน ในยามว่างชายหญิงจะนั่งล้อมวงพูดคุยกันและสูบกอก (คล้ายบ้องกัญชาแต่เป็นการสูบยาเส้นผสมน้ำอ้อย)
เผ่าอาลักและเผ่าตะเรียง เป็นชนเผ่าที่มีความสามารถในด้านการถักทอผ้าฝ้ายที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ หญิงชายเผ่าอาลักนิยมสักลวดลายตามหน้าตาและตามตัว ส่วนเผ่าตะเรียงปลูกสร้างบ้านเรือนได้โดดเด่นโดยเฉพาะส่วนหลังคาที่โค้งมนมีการประดับประดาด้วยเขาควายตรงปลายจั่วด้านบนสุด
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนของชนเผ่ายะเหินเผ่าโอยที่จัดแสดงไว้ในอุทยานผาส้วม ชนเผ่าเหล่านี้ต่างมีวิถีชิวิตและประเพณีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปจากชนเผ่าลาวลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของลาวและลาวสูงชนเผ่าบนดอยสูงของลาว ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งสร้างเป็นโรงเรือนแบบโบราณหลังใหญ่กลางบ้านได้เก็บอนุรักษ์ข้าวของเครื่องใช้ของชนทุกเผ่าในลาวใต้ไว้หลายรายการ เช่น กะลอมเก็บเสื้อผ้าและพืชผลการเกษตร ซึ่งมีรูปลักษณ์ ขนาดและความปราณีตของชิ้นงานแตกต่างกัน บางชิ้นมีอายุนับร้อยๆ ปี ยังมีไหโบราณมากมายที่ชนเผ่าในลาวซื้อมาจากชาวจีนและเผ่าจามในเวียดนามเพื่อนำมาใช้เป็นของกำนัลและสินสอดของหมั้น
“วิถีของชีวิตที่แตกต่างและหลายหลายของชนเผ่าในลาวใต้เปรียบเสมือนการเยี่ยมชมทุ่งดอกไม้ที่หลากสีย่อมให้คุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกที่สมบูรณ์แตกต่างจากการชมแปลงดอกไม้ที่มีสายพันธ์เดียว เห็นไหม... แม้แมลงภู่ผึ้งที่มาดอมดมก็แตกต่างหลากหลายสายพันธ์กว่า ทุกสรรพชีวิตต่างเกื้อกูลและพึ่งพาอาสาอาศัยเติมเต็มให้กันสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์” คือคำที่อาจารย์ใหญ่ของเราชี้แนะและบรรยายย้ำเมื่อทุกคนพร้อมกันบนรถขากลับออกมาจากอุทยาน เป็นประโยคสะกิดใจที่ทำให้ผมได้ตระหนักซึ้งถึงอีกหนึ่งแง่งามของลาวใต้
เยือนลาวคราวนี้เราไม่ได้ไปถึงหลี่ผีและคอนพะเพ็งด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลา แต่จุดสุดท้ายของการลงพื้นที่ในTripนี้มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสำหรับอาคันตุกะหน้าใหม่นั่นคือ ปราสาทวัดภู ปราสาทหินศิลปะสมัยขอม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองจำปาสัก เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่สองของลาวต่อจากเมืองหลวงพระบาง การเยือนปราสาทวัดภู ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงอดีตความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมสมัยโบราณกับเส้นทางราชมรรคาสายสอง ที่มุ่งหน้าจากนครวัดของกัมพูชามาทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือโคตรบอง ที่ตั้งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ในปัจจุบันก็คือบริเวณพระธาตุพนม
ในเส้นทางกลับคืนสู่เมืองปากเซ เราได้ผ่านย่าน Green Zone ของลาวใต้ซึ่งอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ด้วยไร่เงาะ ทุเรียน ไร่ชาไร่กาแฟในเขตส่งเสริมการเกษตรของแขวงจำปาสัก ในเส้นทางยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายสายให้แวะชม อาทิ น้ำตกตาดเยือง ที่เราสามารถเข้าถึงสัมผัสกับสายน้ำและสูดกลิ่นละอองไอได้อย่างใกล้ชิด น้ำตกตาดฟาน เรามองเห็นได้ในระยะไกล เป็นน้ำตกยาวคู่ขนานสองสายดิ่งทิ้งตัวพลิ้วไหวดุจแพรไหมพาดมาจากผาลงสู่หุบเหวของผืนป่าเบื้องล่าง ตาดฟานได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่มีความสูงที่สุดในลาว บ้างว่าอาจสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดความสูงได้ราว 120 เมตร จากหน้าผาลงมาถึงแอ่งน้ำด้านล่าง
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีเอกร่วมสมัยของไทย ได้ร่ายบทกลอนพรรณนาความงามของน้ำตกตาดฟานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า...
“ควันฟองอันฟ่องฟู ขึ้นฟอกฟ้าหุบผาไพร
อาบอวลละอองไอ กำจายชื่นมาฉ่ำภู
น้ำพุ่งกระโจนผา เพียงผาไหวพะพรายพรู
พลั่งพลั่งประดังดู ดั่งดงดึกดำบรรพ์
ที่ฟ้าเป็นฟ้าหยาด แลดินผาดขึ้นเพียงแผน
ควั่งคว้างอยู่กลางแกน แห่งกาลจักรเคลื่อนจักรวาล
เสนาะสนั่นคะครั่นครึก ลงลึกล้ำด่ำบาดาล
สายขวัญแห่งตาดฟาน ผูกฟ้าดินนิรันดร”

สินค้าในตลาดพื้นเมืองริมทางหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีผลิตผลจากป่าหลายอย่างมาวางขายอยู่ดาษดื่น กล้วยไม้ป่า หน่อไม้ แมลงชนิดต่างๆ รวมทั้งชากับกาแฟแปรรูปที่คั่วและบดตามแบบฉบับของเกษตรกรพื้นเมือง ผมไม่พลาดที่จะลิ้มลองรสชาติชาและกาแฟจากร้านกาแฟริมทางร้านหนึ่ง ซึ่งบนแผ่นไม้กระดานข้างฝาได้สาธยายสรรพคุณของกาแฟที่นี่ไว้ ความว่า...
“ดำดั่งปีศาจ ร้อนดั่งนรก หอมดั่งนางฟ้า รสชาติดั่งความรัก”
แม้ผมจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้คอกาแฟสักเท่าใดนัก ยังไม่เคยเจอะเจอทั้งปีศาจและนางฟ้า อีกนรกก็ไม่เคยได้สัมผัส จะมีก็แต่ความรักตามวันวัย ก็ยังแยกไม่ได้ว่ารสชาติความหอมของกาแฟที่นี่กับความหอมหวานของรักแรกแตกต่างกันอย่างไร!!
“ชาล้นถ้วย” คือ นิยามอาการของผมในวันเดินทางกลับ สองวันที่ลาวใต้ผมตักตวงทุกสิ่งทุกอย่างมาเก็บไว้จนล้นปริ่มไม่สามารถเติมสิ่งใดลงไปได้อีก ทุกครุถังของคลังสมองเต็มเปี่ยมด้วยสรรพความรู้ อารมณ์ และความงามบริสุทธิ์ในรอยยิ้มของผู้คน กับวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายห้อมล้อมด้วยธรรมชาติสายน้ำตก ผืนป่า ฯลฯ
ผมได้ตระหนักว่า การเลือกทำตัวอย่างเรียบง่ายไม่ใคร่เป็นที่รู้จักของใครต่อใคร ไม่เห่อหลงไหลไปกับกระแสเหมือนลาวที่กำลังเป็นอยู่ในวันนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยลาวยังสามารถรักษาธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษให้ดำรงอยู่ได้ถึงลูกถึงหลาน ในขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลาย ๆ สังคมมัวแต่แข่งกันร่ำรวยแข่งกันก้าวไปข้างหน้า จนลืมไปว่าทางเดินในวันเก่ารากเหง้าของตนมาจากไหน ไม่แปลกที่ผู้คนของเขาจำนวนหนึ่งจึงเรียกร้องและโหยหามันเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่สังคมของเขาได้ละทิ้งไปแล้วอย่างถาวร
หรือประสบการณ์ชีวิตบางส่วนเสี้ยวในวันนี้จะทดแทนได้บ้างกับสิ่งที่เราเพรียกหามันอยู่?

รอยไท...ในสิบสองปันนา

รอยไท...ในสิบสองปันนา
บุญทัน พาหา....เรื่อง


“เดินทางร้อยลี้ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม...”
ผมอ่านเจอสำนวนนี้ที่นักเดินทางไทยคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ มีความหมายโดยนัยว่าการได้ไปเห็นสถานที่ไม่คุ้นชิน เหตุการณ์ใหม่และผู้คนแปลกตาเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ดีกว่าการโลดแล่นไปตามตัวหนังสือที่มีผู้บันทึกไว้ ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม หลายเหตุการณ์ที่ไปประสบพบเห็นมาจะถูกเก็บใส่ไว้ในลิ้นชักของความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม และบ่อยครั้งเหมือนกันที่ส่วนเสี้ยวของความทรงจำนั้นถูกหยิบจับมาเป็นประเด็นการพูดคุยในหมู่มิตรหรือสนทนากับความคิดของตนเองในเรื่องที่สงสัยหรือเห็นต่างบางห้วงบางเวลาช้าบ้างเร็วบ้าง...
การเดินทางล่องเรือตามลำน้ำโขงจากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า (Ganlanpa) เมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันมา มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เลาะเลียบเกาะแก่งและโตรกผาตามแนวตะเข็บรอยต่อพรหมแดนระหว่างเมียนม่าร์และลาว จนลุถึงดินแดนสามเหลี่ยมทองคำจุดหมายปลายทางที่ท่าเรืออำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายใช้เวลายาวนานร่วมสิบสองชั่วโมง เป็นชั่วโมงการเดินทางทางน้ำที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของพวกเราหลายคน แต่ด้วยธรรมชาติได้รังสรรค์ความงามของวิถีแห่งสายน้ำไว้ให้ ผมและเพื่อนๆ จึงเพลิดเพลินกับการเดินทางอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย มีทั้งเวิ้งน้ำ โตรกธาร สันดอนทราย แก่งหิน วิถีชีวิตผู้คนในสายน้ำและสองฟากฝั่งเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างลำเรือเรียกร้องความสนใจ และตรึงความคิดผมไว้ให้อยู่กับมันนานหลายครู่ยามก่อนที่ภาพใหม่จะเข้ามาทดแทนสลับฉากอย่างนี้เรื่อยไปตลอดเส้นทาง
ระวางบรรทุกเรือโดยสารสัญชาติจีนเที่ยวนี้มีผู้โดยสารรวมทั้งลูกเรือเกือบ 100 ชีวิต ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นคนไทยในคณะของพวกเรา ความที่เป็นคนหมู่มากเราจึงเจรจาขอใช้เครื่องเสียงบนเรือเพื่อให้ไกด์ ผู้รู้ และนักวิชาการผู้เดินทางร่วมไปกับคณะได้บรรยายเติมเต็มข้อมูลในสิ่งที่พวกเราได้พบเห็นมาตลอดการเดินทางเยือนดินแดนสิบสองปันนาเมื่อ 2-3 วันที่ก่อน ทั้งทัศนะและความรู้จึงพรั่งพรูมาเหมือนสายน้ำสำหรับผู้สนใจให้รีบขวนขวายหาภาชนะตักใส่ กล้องถ่ายรูป เครื่องบันทึกเสียง กล้องวีดิโอ ให้นึกสงสารก็แต่ผู้โดยสารบางรายที่ต้องการพักผ่อน แต่เขาคงต้องทำใจเพราะไม่อาจอุทธรณ์ใดๆ ได้ในเมื่อได้ร่วมหัวจมท้ายลงเรือลำเดียวกันแล้ว
ผมย้อนนึกถึงวันเดินทางไป ในความรู้สึกคล้ายกับไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ หมู่คณะเราทยอยลงเรือหางยาว 5-6 ลำ ข้ามฟากที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายหลังอาหารเช้า ข้ามไปยังแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว บนฝั่งด้านนั้นเราเจอนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกประเภท Backpacker วัยหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังรอผ่านการตรวจเช็คบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว พวกเราเดินผ่านไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ที่ไกด์เตรียมไว้และออกเดินทางไปตามเส้นทางสาย R3A มุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ดินแดนสิบสองปันนา
เส้นทางสาย R3A เป็นถนนตัดใหม่ในความพยายามของจีนที่ต้องการเปิดประตูด้านทิศใต้สู่ประเทศในแหลมอินโดจีนเพื่อเป็นเส้นทางการค้าและสัญจรไปมาหาสู่กัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากด่านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายผ่านแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทาในลาวไปถึงชายแดนบ่อหานของจีนได้ภายใน 6-7 ชั่วโมง ระหว่างการเดินทางใน ลาว เราสวนทางกับขบวนรถบรรทุกสินค้าและรถเรลลี่ของนักท่องเที่ยวจากจีนอยู่เป็นระยะๆ ในรอบ 15 ปี มานี้จีนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งในด้านการค้า การผลิตและการบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัดจึงสามารถแผ่รัศมีได้กว้างใหญ่ไพศาล เส้นทางสาย R3A ที่จีนลงทุนสร้างตัดผ่านประเทศลาวเป็นความพยายามหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนของจีนที่แผ้วถางลงมาทางใต้ ภาพนั้นค่อยปรากฏแจ่มชัดขึ้นแล้วกับโครงการเช่าพื้นที่ตามแนวชายแดนใน สปป.ลาว หลายแห่งมาพัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเมืองร้อนเพื่อป้อนตลาดของจีนเอง เช่น ยางพารา กล้วยหอม ลำไย บางส่วนเป็นโรงงาน ศูนย์การค้า และคาสิโน ด้วยสัญญาเช่าระยะยาว
ย้อนไปในอดีตเมื่อราว 60-100 ปีก่อน ความแออัดและความยากจนในประเทศจีนบีบบังคับให้คนจีนในแผ่นดินใหญ่ต้องอพยพแสวงหาที่ทำกินใหม่บนแผ่นดินอื่น จนเกิดเป็นสังคมชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ดินแดนสุวรรณภูมิของไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการอพยพย้ายถิ่นของคนจีนในยุคนั้น โดยมากันได้หลายเส้นทางทั้งทางบกมาตามแม่น้ำและทางทะเลยกเว้นทางอากาศ เพื่อนคนไทยเชื้อสายจีนร่วมสมัยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อาก๋งอพยพมาจากเมืองจีนแถบมณฑลกวางสีเลือกใช้เส้นทางเดินเท้าผ่านเวียดนาม มายังลาวถึงเมืองหลวงพระบางจากนั้นจึงล่องมาตามแม่น้ำโขงจนมาถึงโขงเจียมหันเปลี่ยนเส้นทางขึ้นมาตามลำน้ำมูลและมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ภาคอีสานของไทย
การอพยพย้ายถิ่นฐานของชนชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ชนชาติพันธุ์ไทเคยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้าที่ยิ่งใหญ่อยู่ในจีนตอนใต้ก่อนจะแตกกระจัดกระจายแยกย้ายเป็นหลายกลุ่ม เช่น ไทอาหม ในอินเดีย ไทสิบสองจุไทในเวียดนามตอนเหนือ ไทใหญ่ในเมียนม่าร์ และคนไทยในประเทศไทย แต่ยังมีคนไทเชื้อสายเดียวกันกับเราที่ยังคงปักหลักอาศัยอยู่ในดินแดนดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดอยู่อีกหลายกลุ่ม เช่น ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ไทจ้วงแห่งมณฑลกวางสี รวมทั้งไทดำไทแดงแถบลุ่มแม่น้ำแดง
วันนี้เส้นทางสาย R3A กำลังทำหน้าที่เป็นสะพานนำพาพวกเราย้อนกลับไปตามหาร่องรอยชาติพันธุ์ของตนกับคนไทในดินแดนสิบสองปันนา
“เงื้อดึงธนูให้ถอยมาไกลได้มากเท่าไร ลูกธนูที่ปล่อยไปก็จะพุ่งได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น”
เป็นคำกล่าวของปรมาจารย์ด้านชาติพันธุ์วรรณนาซึ่งกล่าวไว้อย่างลึกซึ้งกินใจ มีความหมายว่า การศึกษาอดีตอย่างลุ่มลึกทำให้เรารู้เท่าทันกับปัจจุบันและจะสามารถพัฒนาอนาคตได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ก่อนวันเดินทางมาถึงผมจึงเตรียมหาทั้งหนังสือคู่มือและเที่ยวท่องโลกไซเบอร์อยู่เป็นนานสองนาน แต่ทันทีที่แรกพบได้สบตากับเชียงรุ่ง อดีตอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองหลวงของชาวไทลื้อเมื่อราว 1,000 ปีก่อน ทำเอาจินตนาการของผมมลายหายไปสิ้น ทั้งนี้เพราะความยิ่งใหญ่และความทันสมัยเข้ามาแทนที่ เชียงรุ่งปัจจุบันมีทั้งย่านธุรกิจการค้าและโรงแรมที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขง แต่เดิมตัวเมืองชียงรุ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหล่านซางหรือล้านช้างตามชื่อเรียกของคนท้องถิ่น ไกด์เล่าว่าเชียงรุ่งเป็นเช่นเดียวกับหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ของจีนที่โตวันโตคืนบันดาลได้ราวกับต่อชิกซอว์ ผมชอบใจในการสรรหาคำมาเปรียบเทียบของไกด์ซึ่งพิสูจน์ได้ไม่ว่าจะเหลียวมองไปทางไหนล้วนมีแต่การก่อสร้างและปรับปรุง หากวันพรุ่งผมมีโอกาสได้มาเยือนอีกครั้งคงบอกไม่ได้ว่าเชียงรุ่งจะพัฒนาไปสักเพียงใดในเมื่อทุกอย่างเติบโตเร็วราวกับเนรมิต
ตำนานของเมืองเชียงรุ่ง ด้านหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตำนานทางพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น เล่าขานกันสืบต่อมาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเผยแพร่พระพุทธศาสนาผ่านมารุ่งเช้าที่นี่พอดี จึงเป็นที่มาของคำว่า เชียงรุ่ง หรือดินแดนแห่งรุ่งอรุณ อีกด้านหนึ่งเล่าว่า เชียงรุ่ง คือชื่อเดิมของพญาเจือง ปฐมกษัตริย์ของสิบสองปันนา หรือที่จีนเรียกว่า เชอลี หรือ เช่อหลี่
ชาวไทลื้อในสิบสองปันนานิยมตั้งถิ่นฐานชุมชนและเมืองอยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรโดยมีภูเขาล้อมรอบ สภาพทางภูมิศาสตร์จึงทำให้เมืองแต่ละเมืองเหมือนถูกแยกออกจากกัน ขาดความเป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่นความเป็นอาณาจักรจึงอ่อนแอไม่เหมือนรัฐไทอื่นๆ เช่น เชียงตุง หรือ ล้านนา อาณาจักรเชียงรุ่งหรืออีกชื่อหนึ่งคืออาณาจักรสิบสองปันนา ประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่กว่า 30 เมือง สมัยเจ้าอิ่นเมืองได้จัดแบ่งหัวเมืองเหล่านี้เป็น 12 กลุ่ม กลุ่มละปันนา (1,000 นา) [นาคือหน่วยวัดเนื้อที่ของชาวไทลื้อ, 1 นา มีพื้นที่ 4 ตารางเมตร 100 นา คือพื้นที่ 400 ตารางเมตร] แต่ความหมายปันนา (พันนา) ใช้เรียกหัวเมืองเหล่านี้แต่ไม่ได้หมายถึงมีเนื้อที่เพียงหนึ่งพันนาหรือ 4,000 ตารางกิโลเมตร ความหมายของคำว่า สิบสองปันนา จึงมาจากการแบ่งเขตการปกครองดังกล่าวเป็น 12 หัวเมือง ที่เรียกว่า 5 เมิงตะวันตก 6 เมิงตะวันออก (เมิง หมายถึง เมือง) โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นหลักในการแบ่ง ประกอบด้วย
1) เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ รวมเป็น 1 พันนา
2) เมืองแช่ เมืองเชียงลู เมืองออง รวมเป็น 1 พันนา
3) เมืองลวง 1 พันนา
4) เมืองหุน เมืองพาน เมืองเชียงลอ รวมเป็น 1 พันนา
5) เมืองฮาย เมืองเจือง รวม 1 พันนา
6) เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
7) เมืองล้า เมืองบ่าน รวมเป็น 1 พันนา
8) เมืองฮิง เมืองบ่าง รวมเป็น 1 พันนา
9) เมืองเชียงเหนือ เมืองลา และเมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
10) เมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน รวมเป็น 1 พันนา
11) เมืองอูเหนือและเมืองอูใต้ รวมเป็น 1 พันนา
12) เมืองเชียงทอง เมืองอีงู เมืองอีปัง เมืองบ่อล่า รวมเป็น 1 พันนา
เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีที่นากว้างขวางก็มักได้รับสมญา เช่น “สี่หมื่นไร่เมืองลา
สี่หมื่นนาเมืองแช่” หรือเมืองฮายที่เป็นศูนย์กลางการค้าใบชาและการบูร ในจดหมายเหตุของจีนบันทึกไว้ว่าสิบสองปันนาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นชาพูเออ ซึ่งเป็นชาชั้นดี นอกจากนี้เมืองฮายยังเป็นเมืองสำคัญในด้านการค้าระหว่างสิบสองปันนากับพม่าและอาณาจักรล้านนา รวมทั้งกับจีนและทิเบต
การดำรงอยู่ของอาณาจักรเชียงรุ่งหรือสิบสองปันนาในอดีตมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและพม่าเสมอมาในฐานะเมือง “สองฝั่งฟ้า” โดยยอมเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองชาติและถือเอา “ฮ่อเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่” กล่าวคือมีจีนเป็นพ่อมีพม่าเป็นแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด แต่อิทธิพลที่จีนและพม่าเข้าครอบงำโดยตรงนั้นทำได้ยากเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขายากลำบากต่อการเข้าถึง
ในหมู่บ้านไทลื้อที่กะหลั่นป้าห่างจากเชียงรุ่งลงมาทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อที่ทางการจีนได้อนุรักษ์ไว้ คล้ายกับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนที่นี่มีราว 200 หลังคาเรือน พวกเขายังคงดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรอยู่ริมแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลั่นซางหรือล้านช้าง สภาพบ้านเรือนที่เราเห็นเป็นหลังคาทรงปั้นหยาทำด้วยไม้ เสาบ้านวางอยู่บนตอหม้อทำจากหิน ฝาบ้านแอ่นเอนลู่ส่วนบนบานขึ้นรับกับหลังคาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของบ้านแบบชาวไทลื้อ ใต้ถุนบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงทอผ้า ปั่นด้าย มีครกกระเดื่องตำข้าว กลางชุมชนมีวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับชนชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทลื้อ ชื่อวัด สวนหม่อน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดมหาราชฐานสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1126 มีอายุมากกว่า 1400 ปี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทลื้อ ศิลปกรรมการก่อสร้างอ่อนช้อยสวยงามคล้ายกับศิลปะแบบล้านนา ในสมัยที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรมนอกจากได้ทำลายการสืบทอดเชื้อสายของกษัตริย์แห่งเชียงรุ่งแล้ววัดทางพุทธศาสนาได้ถูกทำลายลงไปมาก ชาวไทลื้อที่นี่ได้ใช้กุศโลบายอันแยบยลตบตารัฐบาลจีนในสมัยนั้นโดยปล่อยทิ้งให้วัดแห่งนี้เป็นวัดร้างอยู่นานร่วม 20 ปี ไม่มีการทำกิจกรรมทางศาสนาใดๆ บริเวณวัดใช้เป็นที่เลี้ยงวัวควาย ในโบสถ์ใช้เป็นยุ้งฉาง จึงทำให้สามารถรักษาวัดเอาไว้ได้ ภายหลังเมื่อมีการผ่อนปรนกฏระเบียบชาวบ้านจึงกลับมาบูรณะฟื้นฟูใหม่ และเมื่อการคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้นวัดนี้จึงได้รับการช่วยเหลือทั้งในด้านเงินบริจาคและปัจจัยมากมายจากนักท่องเที่ยวชาวไทย หากมองอย่างผิวเผินเมื่อเราเดินอยู่ในชุมชนบ้านกะหลั่นป้าให้ความรู้สึกคล้ายกับเราเดินอยู่ในชนบทไทยสักแห่งในภาคเหนือ ถึงแม้จะเป็นการรื้อฟื้นและถูกปรุงแต่งขึ้นมาใหม่แต่บรรยากาศและกลิ่นอายเรายังคงสัมผัสได้อยู่
ผมแวะขึ้นไปพูดคุยบนบ้านหลังหนึ่งตามคำชักชวนของเจ้าของบ้านที่เป็นหญิงวัยเลยกลางคนในหมู่บ้านกะหลั่นป้า ผมถามด้วยบทสนทนาง่ายๆ เธอตอบกลับมาด้วยภาษาที่ฟังดูคล้ายสำเนียงทางเหนือหรืออีสาน “กำลังทำอะไรอยู่ครับ?” “เฮ็ดการ” เธอตอบขณะที่มือเธอเพิ่งละจากผ้าที่กำลังปักชุนอยู่ “มีลูกกี่คน?” “มีลูกสองโต๋เปิลไปเฮ็ดการอยู่คุนหมิง” เธอตอบก่อนลุกไปชงน้ำชามาต้อนรับ ผมกวาดสายตาเหลียวมองไปรอบๆ เห็นว่าเป็นบ้านที่มีห้องรับแขกขนาดใหญ่ตามธรรมเนียมของชาวไทลื้อถือว่าเป็นห้องที่สำคัญที่สุดในบ้าน มีไว้สำหรับรับรองและเป็นที่พักหลับนอนของแขกผู้มาเยือนรวมทั้งเป็นห้องนั่งเล่นทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของคนในครอบครัว ส่วนห้องนอนของเจ้าของบ้านเป็นเพียงห้องเล็กๆ ไม่พิถีพิถันเท่าใดนัก
“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
การแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายสิบสองปันนาเป็นเหตุให้มีการขอกองกำลังจากล้านนาไปช่วย เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงยกกองกำลังไปตีเชียงรุ่ง 2-3 ครั้ง ในระหว่างปี ค.ศ. 1806-1815แต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ แต่การถอยทัพทุกครั้งมักจะกวาดต้อนผู้คนกลับมาใส่บ้านเมืองของตนด้วยเพื่อฟื้นฟูและสร้างอาณาจักร นั่นเป็นความสัมพันธ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ระหว่างอาณาจักรล้านนาของไทยกับสิบสองปันนานอกเหนือจากด้านการค้า สมัยไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่าคนไทยก็เคยถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่หงสาวดีและมัณฑะเลเป็นจำนวนมากเช่นกัน เรียกกันว่าพวก โยเดีย คือพวกที่มาจากอยุธยา ด้วยเหตุนี้จังหวัดทางภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน จึงมีลูกหลานไทลื้อหลายชุมชนสืบทอดเชื้อสายและขนบประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตกลางคืนของเมืองเชียงรุ่งหรือ “จิ่งหง” (Jinghong) ในภาษาราชการของจีน วันนี้มีแสงสี จากผับ บาร์ และสถานเริงรมย์ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกโค้งถนนเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว มีการจัดการแสดงที่บ่งบอกถึงประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่โรงละครพาราณสีเป็นประจำทุกคืน นอกเหนือจากความงดงามอลังการของแสงและเสียงแล้วทุกฉากยังเต็มไปด้วยความหมายโดยมีจุดขายคือความเป็นไทลื้อ การแสดงทุกรอบจึงหนาแน่นและคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตอนกลางวันในย่านศูนย์การค้าผู้คนมาเดินช้อปปิ้งกันค่อนข้างหนาตา ผมสังเกตเห็นลวดลายตามซุ้มประตูในตัวเมือง รูปปั้น และอาคารน้อยใหญ่รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นิยมใช้สัญลักษณ์รูปช้างและนกยูงมาประดับตกแต่ง เข้าใจว่าผู้สรรสร้างคงต้องการสื่อให้รู้ถึงความเป็นมาของอาณาจักรล้านช้างและสิบสองปันนาของชนกลุ่มน้อยชาวไทลื้อที่วันนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 300,000 คน
วันเดินทางกลับมาถึงเร็วกว่าที่คิด เราออกเดินทางแต่เช้าตรู่จากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า มุ่งหน้าลงใต้มาตามลำน้ำโขงสายน้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนในชุมชนอุษาคะเนย์หลายร้อยล้านคน อุณหภูมิที่ลดต่ำในหน้าหนาวเปลี่ยนมวลอากาศเป็นละอองหมอกหนาลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือผิวน้ำใส เงาตะคุ่มๆ ของเรือโดยสารข้ามฝั่งแล่นผ่านเราไปเป็นระยะๆ ระลอกคลื่นจากเรือแหวกคว้านผืนน้ำเป็นวงกว้างไล่ไปกระทบแก่งหินริมฝั่งทั้งสองฟาก นอกหน้าต่างลำเรือที่เหนือระดับสายตาขึ้นไปเป็นภูเขาสีเขียวสูงละลิ่ว สีเขียวที่เห็นเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของสิบสองปันนาคือยางพาราสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรมใหม่ เรียงหน้ามาให้เห็นลูกแล้วลูกเล่าไกลสุดหูสุดตา
การเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ในแม่น้ำโขงจีนเป็นฝ่ายผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวด้วยว่าเหนือขึ้นไปในแผ่นดินใหญ่ในตอนกลางของประเทศ จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไว้หลายแห่งทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำมีน้อยการคมนาคมเดินเรือขนาดกลางในลำน้ำโขงด้านใต้เขื่อนจึงต้องอาศัยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยหนุน ด้วยเหตุนี้การเดินเรือช่วงจากสิบสองปันนาลงมาชียงแสนจึงมีแต่จีนเท่านั้นที่สามารถทำได้ ในหน้าแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเกษตรและการคมนาคมในประเทศตอนล่างอย่าง ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม จึงมีการจัดประชุมร่วมของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อจัดสรรและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
ท่าเรือกุ้ยเล่ย (Guan Lei) เป็นท่าเรือสุดท้ายชายแดนจีน ก่อนที่เรือจะนำพาเราเข้าสู่ดินแดนรอยต่อของสามประเทศ จีน เมียนม่าร์ และลาว เรียกกันว่า สามเหลี่ยมมรกต จะตั้งชื่อเพื่อให้คล้องจองกับ ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อของสามประเทศ ไทย เมียนม่าร์และลาว หรือไม่ผมไม่มีข้อมูลแต่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าไม้บนภูเขาสองฝั่งโขงบริเวณนี้ทำให้ผมนึกโยงไปถึงวันวานที่เราเข้าชมสวนป่าดงดิบ (Forest Park) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรุ่งมากนัก ที่นั่นมีพืชพันธุ์เขียวขจีมีป่าไผ่ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกยูง สัตว์ที่ชาวไตลื้อถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความสุข และความดี ดังข้อความตรงปากทางเข้าสวนที่เขียนเป็นภาษาจีน อังกฤษ และไทย มีใจความว่า...
“Xeshuangbanna is the home of peacocks. In the eye of the Dai people, peacocks are symbols of happiness, beauty and good fortune…”
จากสวนป่าธรรมดาจีนสามารถจัดการให้แตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ผมจึงไม่แปลกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสายจนรถไฟฟ้านำชมในอุทยานให้บริการไม่ทัน ในสวนป่ามีนกยูงมากกว่า 300 ตัว ถูกปล่อยเลี้ยงให้หากินตามธรรมชาติแต่มีอาหารเสริมให้บางเวลา สัญญาณนกหวีดจากเจ้าหน้าที่ที่ให้อาหารสามารถเรียกนกยูงนับร้อยๆ ตัวให้บินลงมายังลานนัดหมายในเวลาเดียวกันจากขุนเขาที่อยู่รายรอบ เราต่างแตกตื่นแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ชัตเตอร์ กล้องถ่ายรูปทุกตัวระรัวถี่ยิบ เมื่อได้เวลาเขาก็บินจากไป เป็นอีกเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเป็นบ้านเกิดของนกยูงได้อย่างแจ่มชัด
ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าอาข่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของสวนป่าดงดิบที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชายเป็นจะเป้าหมายให้เข้าร่วมพิธีแต่งงานกับหญิงสาวชาวอาข่า เป็นการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมในบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง แฝงอุบายด้วยการหารายได้จากกระเป๋านักท่องเที่ยวในฐานะเจ้าบ่าวที่ต้องจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าสาวคนละ 50 หยวนแลกกับการถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกหรือให้ระทึกเมื่อกลับมาถึงบ้าน
แม่น้ำโขงช่วงที่กั้นระหว่างเมียนม่าร์กับลาวไหลคดเคี้ยวกระแสน้ำแรงและเชี่ยวกราดเพราะผ่านพื้นที่ภูเขาสูงมีเกาะแก่งและโขดหินน้อยใหญ่ตะปุ่มตะป่ำงดงามแต่เป็นอุปสรรคและอันตราย กัปตันเรือต้องใช้ทักษะและความชำนาญเป็นพิเศษ ไกด์บนเรือชี้ชวนให้ดูความงามของเกาะแก่งโขดหินหลายสีสันและรูปทรงพร้อมสาธยายความหมายเพื่อประดับความรู้
หินสีเขียวนั่นหมายถึงมีส่วนผสมของแร่ทองแดง
หินสีมันวาวออกสีน้ำตาลเข้มคือแร่แมงกานีส
หินขรุขระตะปุ่มตะป่ำสีดำแต่มันวาวเมื่อกระทบแสงแดดคือ ถ่านหิน
ก่อนนี้มีเกาะและแก่งหินมายมายในแม่น้ำโขงแต่เมื่อจีนเริ่มเปิดเส้นทางการสัญจรทางน้ำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนได้ระเบิดทำลายปราการด่านธรรมชาติเหล่านี้ลงไปบ้าง บางช่วงของการเดินทางเรือของเราเจอเข้ากับสันดอนทรายตื้นเขินจนหมุนคว้างกลางลำคลำหาร่องน้ำกันใหม่ การคมนาคมในแม่น้ำโขงยามหน้าแล้งจึงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย
ดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าเรือก็ลอยลำนำพาพวกเราเขยิบเข้าใกล้ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำทุกขณะ ผมพาตัวเองออกมานอกห้องโดยสารสู่ดาดฟ้าเรือเพื่อมาสัมผัสกับแสงสุดท้ายแห่งวัน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเหลี่ยมในดินแดนลาวมีโรงแรมและคาสิโนขนาดใหญ่โดยนักลงทุนชาวจีนที่ทำสัญญาเช่า 99 ปี กับรัฐบาลลาว เริ่มเปิดไฟสว่างไสวเพื่อเชิญชวนลูกค้า ฝั่งตรงข้ามเป็นเหลี่ยมในดินแดนของเมียนม่าร์มีแม่นำสายน้อยๆ สายหนึ่งชื่อแม่น้ำฮวกไหลจากเมืองเชียงตุงลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เรียกกันว่า สบฮวก บริเวณสบฮวกในฝั่งเมียนม่าร์ก็มีคาสิโนและโรงแรมขนาดใหญ่ไม่น้อยหน้าเช่นกันแต่ที่นั่นสัมปทานโดยนักการเมืองของไทย อีกด้านเป็นเหลี่ยมของฝั่งไทยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงปลายเหนือสุดของแดนสยาม บ่งบอกถึงเขตคามของดินแดนสุวรรณภูมิ ผมรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกในความช่างคิดให้แตกต่างบาดความรู้สึกผู้คนที่สัญจรหรืออย่างน้อยก็ในสายตาของนักขุดทองหรือนักพนันทุกสัญชาติ
พลบค่ำเรือลอยลำช้าๆ เข้าเทียบท่าที่อำเภอเชียงแสน
“หนทางไม่ได้เดินเพียงสามวันหญ้าก็ขึ้น ญาติพี่น้องไม่ได้ไปมาหาสู่กันก็หลงลืมสูญหาย”
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการคมนาคมขนส่งทำให้การไปมาหากันสะดวกกว่าแต่ก่อน กอปรกับสังคมที่เปิดกว้างขึ้นทำให้พี่น้องไทสองดินแดนสามารถเปิดประตูเชื่อมถึงกันได้ กาลที่ผ่านมาวัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทลื้อในสิบสองปันได้สะท้อนภาพความเป็นไทและโฉมหน้าของบรรพบุรุษไทให้เราเห็นได้อย่างแจ่มชัด กาลข้างหน้าเราอยากเห็นลูกหลานไทลื้อในสิบสองปันนาสามารถสืบทอดมรดกอันล้ำค่าของวิถีไทเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้รับช่วงสานต่อ
ลึกๆ ผมแอบคิดภาวนาในใจไม่อยากให้วันนั้นมาถึง...
วันที่หยดหนึ่งของสายเลือดไทในแผ่นดินใหญ่จีน ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามของชาวไทลื้อต้องเลือนหายไปกับแผ่นดินแม่

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี
บุญทัน พาหา... เรื่อง/ภาพ

หากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวสักแห่งหนึ่งซึ่งเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนทั่วโลกนับล้านๆ ที่มีพื้นฐานและมีที่มาแตกต่างกันหนึ่งในนั้นผมกล้าฟันธงว่าคือ...บาหลี
วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออมตะกล่าวไว้ว่า “Seeing is Believing” การพบเห็นสร้างความน่าเชื่อถือ ความหมายโดยนัยคือเรื่องบอกเล่ามากมายที่ได้รับรู้หาได้สร้างความตระหนักและลึกซึ้งได้เท่ากับเรื่องราวที่ได้พบเห็นมาด้วยตาตนเอง ชื่อเสียงของเกาะบาหลีที่ใครๆ ต่างพากันพูดถึงแต่หากไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองผมคงไม่มีวันเที่ยวประชาสัมพันธ์บอกใครต่อใครได้ แม้จะมีเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 วัน กับการตระเวนไปไม่ทันได้สัมผัสลึกซึ้งอะไรแต่จิตใจกลับหลงใหลในบาหลีเสียเต็มประดา เปรียบปานอิเหนาหลงรักบุษบาเหมือนซมพลาหลงรักนางลำหับวรรณกรรมที่เลื่องชื่อของหมู่เกาะแห่งท้องทะเลใต้
บาหลี...ที่มา?
บาหลีเป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา เกาะที่มีความสำคัญมากที่สุดของอินโดนีเซียเพราะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง จาการ์ต้า (Jakarta) อดีตในยุคล่าอาณานิคมหมู่เกาะแห่งอินโดนีเซียได้รับการขนานนามจากชนชาตินักล่าว่าหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมการค้าทางทะเลระหว่างตะวันออกไกลคือจีนและญี่ปุ่นกับประเทศตะวันตกในเส้นทางเดินเรือสมัยก่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศจำพวกพริกไทย กระวาน กานพรู ฯลฯ ที่สำคัญของโลกในแถบหมู่เกาะโมลุกะ (Molucca) และสุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดของชาติตะวันตก คุณสมบัติที่พร้อมสรรพสำหรับการเป็นเมืองขึ้น หมู่เกาะอินโดนีเซียจึงมีหน้าประวัติศาสตร์เคยถูกยึดครองโดยชนชาตินักล่าอาณานิคมหลายชาติมาอย่างยาวนาน หลังได้รับเอกราชจากดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2492 หลังจากที่คาราคาซังยืดเยื้อมานานเพราะดัตช์หวงแหนดินแดนแห่งนี้มาก อินโดนีเซียก็กลายเป็นประเทศเอกราชใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกกว่า 18,000 เกาะ เรียงรายกระจายอยู่ในน่านน้ำของสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก คาบเกี่ยวอยู่ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เพราะมีหมู่เกาะทอดตัวยาวไกลจากทวีปเอเชียไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย
ปัจจุบันเกาะบาหลีมีฐานะเป็นจังหวัดของหนึ่งอินโดนีเซียมีประชากรสามล้านกว่าคน มีพื้นที่ประมาณ 5,620 ตารางกิโลเมตร มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 90 กิโลเมตร ตะวันออกไปตะวันตก 140 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะทางตอนกลางของประเทศในกลุ่มหมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบาหลีมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายจิงโจ้กำลังกระโดด ติ่งที่ยื่นมาตรงส่วนขาของจิงโจ้คือที่ตั้งของเมืองหลวงเดนพาซ่าร์ (Denpasar) แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ทว่ามีความหลากหลายทางธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือพื้นที่ทางตอนกลางเป็นภูเขาไฟสูงเสียดสายหมอก พื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างแห้งแล้งเขตตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่การเกษตรนาขั้นบันไดที่เรียกกันว่า ซะวาห์ (Sawah) ในด้านเศรษฐกิจบาหลีนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียทั้งมวล ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกสร้างรายได้ให้ประเทศปีหนึ่งๆ มากมายถึงหนึ่งในสามของรายได้มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ที่รีสอร์ท Kind Villa Bintang อันเป็นที่พักมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายเดินทางมาจากทุกทวีปทั่วโลก นักท่องเที่ยวจากอเมริกาบินต่อมาจากเกาะฮาวายเพียงใกล้ๆ ก็ถึงบาหลี นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียพบเห็นมากที่สุดที่นี่เพราะบาหลีเป็นเสมือนเพื่อนบ้านของเขา ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปพบว่าส่วนใหญ่มาจากฮอลแลนด์ดินแดนที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียมาก่อน นักท่องเที่ยวทั้งหลายย้ำชัดถึงจุดขายของบาหลีที่แตกต่างไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ คือ ด้านวัฒนธรรม แต่กระนั้นในด้านธรรมชาติ ทั้งชายหาด อากาศ ป่าไม้ ภูเขา เราต่างเห็นพ้องกันว่าบาหลีมีดีไม่เป็นรองใคร สมแล้วกับสมญานามมากมายที่เธอได้รับ
บาหลี...ดินแดนแห่งเทพเจ้า
บาหลี...อัญมณีแห่งเอเชีย
บาหลี...สวรรค์บนดิน
บาหลี...ที่เป็น?
อารยธรรมศิวิไลซ์ของโลกยุคใหม่ซึ่งไร้พรหมแดนหรือที่เรียกกันว่า โลกาภิวัตน์ ได้ทำลายวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของประเทศหรือชุมชนน้อยใหญ่ทั่วโลกมามากมายนักต่อนัก ทุกอย่างดูจะก้าวย่างไปในทิศทางเดียวกันผิดกันตรงที่ช้าบ้างเร็วบ้าง สิ่งที่นักท่องเที่ยวได้เห็นกลับเป็นเพียงวิหารที่ว่างเปล่าหรือเพียงร่องรอยกับกลิ่นอายที่แตกต่าง เป็นกระแสที่ยากจะต้านฝืน แต่ที่บาหลีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กระแสที่ทรงพลังอันเชี่ยวกราดได้ไหลผ่านไปราวกับไร้แรงต้านแต่บาหลีก็ยังคงยืนกรานตระหง่านอยู่ได้ดุจไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุที่พัดโหมกระหน่ำ เป็นเช่นนี้มานานหลายชั่วอายุคนนานนับพันปีมาแล้ว
วัดหรือศาสนสถานของฮินดูซึ่งมีอยู่มากมายกว่า 200 วัด ในบาหลีกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในการมาเยือนบาหลี วัดที่นี่สื่อให้เห็นถึงความยึดมั่นศรัทธาในศาสนาผนวกกับความเชื่อของท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัด ชาวบาหลีได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ที่แพร่ขยายมาจากประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อน ซุ้มประตูทางเข้าวัดสื่อสัญญาณถึงเทพเจ้าที่ชาวบาหลีเคารพคือพระศิวะ ชาวบาหลีเชื่อว่าพระศิวะคือเทพผู้สร้างบาหลีขึ้นมาโดยแบ่งภาคลงมาเกิดเป็นภูเขาไฟสองลูกซึ่งตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันทางตอนเหนือของเกาะและมีความสูงเป็นอันดับหนึ่งและสองในเกาะบาหลี คือ ภูเขาไฟ กุงนุงอากุง (Gunung Agung) กับกุงนุงบาตู (Gunung Batur) ทั้งสองเป็นภูเขาไฟที่ไม่หลับใหลยังคงคุกรุ่นอยู่ ชาวบาหลีเคารพบูชาเสมือนเป็นภูเขาพ่อภูเขาแม่ที่คอยปกป้องคุ้มครองลูกๆ ด้วยเกรงว่าหากไม่เคารพบูชาหรือหากกระทำในสิ่งที่ไม่ดีก็อาจทรงพิโรธนำภัยพิบัติคือพ่นเถ้าถ่านลาวามาทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ สื่อสัญลักษณ์แห่งความเชื่อความศรัทธาในภูเขาไฟของชาวบาหลีสังเกตได้จากซุ้มประตูทางเข้าวัดหรือศาสนสถาน ซุ้มเบื้องขวาที่สูงกว่าแทนภูเขาไฟกุงนุงอากุง ส่วนเบื้องซ้ายแทนภูเขาไฟกุงนุงบาตู
ภายในวัดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้และส่วนภายในเป็นส่วนเฉพาะของพราหมณ์ที่เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ระดับของพราหมณ์ในบาหลีแบ่งได้สองระดับคือ ปะดันดา กับ ปะมังกู พราหมณ์ปะดันดาถือเป็นพราหมณ์ชั้นสูงสามารถเสกน้ำมนต์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ส่วนพราหมณ์ปะมังกูเป็นพราหมณ์ในระดับรองลงมาทำหน้าที่เพียงนำสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆ
ชาวฮินดูในบาหลีไม่ได้มีการแบ่งชั้นวรรณะ (Caste) เหมือนกับประเทศอินเดีย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในวัดตลอดถึงดำเนินชีวิตตามปกติจึงไม่มีให้เห็นเช่นเดียวกับในประเทศไทยที่วัด Pura Tirta Empul หรือวัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เราเห็นชาวฮินดูในบาหลีมาทำพิธีไหว้พระและอาบน้ำพุร้อนกันตลอดทั้งวันโดยไม่ยี่หระสนใจสายตาของนักท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคู่ที่จับจ้องมองด้วยความสนใจ
ในเส้นทางมาสู่วัดสำคัญๆ เราได้พบเห็นกับภาพที่น่าอัศจรรย์เมื่อชาวบ้านหญิงชายเด็กและผู้ใหญ่แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเดินเทินดอกไม้เครื่องเซ่นไหว้บูชาไว้เหนือศีรษะเดินทางเป็นแถวแนวลดหลั่นตามไหล่เขามุ่งหน้าไปยังวัดที่เขานับถือเพื่อประกอบพิธีกรรม ชาวฮินดูในบาหลียังคงยึดมั่นในศาสนารักษาและสืบทอดประเพณีที่ว่านี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับพันพันปีไม่มีเปลี่ยนแปลง มีวัดที่สวยงามมากมายกระจายอยู่ทั่วเกาะบาหลี สอบถามจากเพื่อนๆ และนักท่องเที่ยวหลายๆ คนต่างเห็นตรงกันว่าวิถีชีวิตเฉกเช่นนี้หละที่สร้างความต่างเป็นสีสันและเสน่ห์ที่ตราตรึงเมื่อนึกถึงบาลี
ยังมีอีกหลากหลายเกร็ดความเชื่อหลากหลายวิถีที่บาหลีได้โปรยเสน่ห์ให้คนแปลกหน้าหลงใหล เช่น ในเส้นทางที่เราท่องไปได้พบเห็นรูปเคารพเป็นเทพเจ้าเด็กๆ มากมาย เป็นงานประติมากรรมลอยตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง นั้นเป็นอีกความเชื่อของชาวบาหลีที่มีต่อเด็กเกิดใหม่ ชาวบาหลีเชื่อว่าเด็กเป็นการกลับชาติมาเกิดของบรรพบุรุษ จึงมีพิธีกรรมและข้อห้ามมากมายโยงใยไปถึงความเชื่อดังกล่าว เช่น ภายใน 105 วัน เท้าของเด็กเกิดใหม่จะต้องไม่สัมผัสกับผิวดิน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุไม่ดีขึ้นกับเด็ก การตะไบฟันให้กับเด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นมาเพื่อลบฟันเขี้ยวออกไปเพราะชาวบาหลีเชื่อว่าฟันเขี้ยวหมายถึงวิญญาณสัตว์ร้ายที่อยู่ในตัวเด็ก รวมถึงประเพณีบุญวันเกิดที่มีการทำธงทิวริ้วต้นไผ่ทั้งลำประดับประดาหน้าบ้านสวยงามเป็นแถวแนวเก่าใหม่สลอนอยู่สองข้างทาง
ในด้านธรรมชาติบาหลีก็มีจุดดึงดูดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นาขั้นบันไดเป็นจุดขายที่ใครได้ไปเยือนก็กล่าวขวัญถึงความงดงามเขียวขจีของนาแปลงน้อยที่ลดหลั่นลงมาตามไหล่เขา เราเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา ชาวบาหลีฟัดข้าวทันทีที่เกี่ยวเสร็จด้วยแรงมือโดยไม่รอตากให้แห้ง บาหลีมีหาดทรายขาวเรียงรายอยู่รอบเกาะ ทะเลกับหาดทรายในเขต Tropical เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากเมืองหนาวได้ดีเสมอ ธรรมชาติของผืนป่าและขุนเขาบาหลีก็มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นผลมาจากอิทธิพลของภูเขาไฟมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์แบบขึ้นในบาหลีที่เห็นเด่นชัดคือ ธรรมชาติบริเวณหมู่บ้านคินตามณี (Kintamani) และทะเลสาบกุงนุงบาตูที่เกิดจากการยุบตัวของการระเบิดของภูเขาไฟกุงนุงบาตู เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดแวะพักชมวิวทิวทัศน์และสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นที่สำคัญของผู้มาเยือน
บาหลี...ที่ไป?
“คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ” นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ที่ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมอยู่ในอินโดนีเซียและบาหลีได้เสนอแนวคิด “วิวัฒน์เวียนวน” (Agricultural Innovation) ซึ่งเป็นทฤษฎีของระบบภาคเกษตรมาอธิบายแบบแผนทางวัฒนธรรมในบาหลีว่า... “เมื่อวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งวิวัฒนาการมาจนได้รูปแบบที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่อื่นๆ ได้อีก หากเพียงแต่ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่านั้น” แนวคิดนี้ได้สะท้อนความเป็นบาหลีออกมาได้อย่างชัดเจนว่า วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบาหลีเป็นเช่นนี้สืบต่อเนื่องกันมายาวนานจนเป็นรูปแบบ การพัฒนาได้ชะงักงันลงคล้ายกับการตกผลึกทางวัฒนธรรมที่ฝังรากแน่น
ในหน้าประวัติศาสตร์บาหลีเคยถูกปกครองโดยดัตช์มายาวนานเกือบศตวรรษ ถูกครอบครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอีกหลายบททดสอบที่บาหลีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
และเชื่อมั่นได้ว่าในวันข้างหน้าไม่ว่าจะอีกสักกี่ร้อยปีกี่พันปี... เมล็ดพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ยังคงแสดงวิถีแห่งบาหลีให้โลกในวันหน้าได้ประจักษ์ ผู้คนที่นี่ยังคงรักที่จะอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ อยู่กับพิธีกรรมที่มุ่งรักษาสมดุลทางธรรมชาติระหว่างความดีความชั่วอยู่ต่อไป
วันข้างหน้าของบาหลีก็คงก้าวย่างไปเฉกเช่นนี้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น...

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปัญหาเรื่องเพศ

ปัญหาเรื่องเพศ โดย Thammiga

คำถาม ลักเพศ เป็นวิบากหรือเป็นผลจากกรรมใด ?
พวกเราชาวพุทธคงไม่ปฏิเสธเรื่องกฎแห่งกรรมนะครับ “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมครับ” คราวที่แล้วผมทิ้งท้ายในประเด็นเกี่ยวกับโสเภณีทำนองว่า บางสิ่งบางอย่างเราหรือเขาไม่อยากมีไม่อยากเป็น เราก็มี เขาก็เป็น เด็กบางคนเกิดมาเป็นโรคร้าย มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (กรรมชั่วจากมารดาบิดา) มีอาการต่าง ๆ อันไม่เป็นที่พึงประสงค์ ต้องรับทุกขเวทนาตลอดชีวิต“ลักเพศ” น่าจะเช่นกัน วิชาการด้านจิตวิทยาและชีววิทยาบอกว่า ลักเพศน่าจะมีเหตุจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เท่าที่ทราบ สิ่งแวดล้อมได้แก่ สภาพการเลี้ยงดูในวัยเด็ก เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์พบ “จีน (Gene)” ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเกย์ ทำให้ทราบว่าพันธุกรรมมีผลมาก ก็ด้วยเหตุดังกล่าว “วิบาก” ที่เกิดจาก “กรรม” ของคนนั้น ๆ ก็ต้องตกแต่งให้เขาเป็นเช่นนั้น

อยากทราบว่าวิบากใดจึงทำให้เกิดลักเพศครับ เคยได้ยินมาเลา ๆ ว่าการผิดศีลข้อ 3 ให้วิบากเป็นลักเพศ ไม่ทราบว่าเท็จจริงประการใด ขอรบกวนพี่ ๆ น้า ๆ และอาจารย์ผู้สันทัดช่วยตอบคำถามและแนะนำด้วยครับ อาจมีชื่อคัมภีร์ประกอบด้วยก็ได้ เผื่อผมจะได้ศึกษาต่อไป ขอบคุณครับ.

๑. หนังสือ พจนานุกรมภาษาไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. ๒๕๓๐ หน้า ๔๖๗ ให้คำนิยามคำว่า “ลักเพศ” ไว้ว่า :-
ลักเพศ [ลักกะเพด] ก. แต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน; (พูด) ทำนอกลู่นอกทาง. ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ นิยามไว้ว่า แต่งตัวปลอมเพศ เช่นเดียวกับฉบับเฉลิมพระเกียรติ.

๒. หนังสือ NEW MODEL ENGLISH - THAI DICTIONARY ของ So Sethaputra ให้คำนิยามไว้ว่า
ลักเพศ [ลักกะเพด] vi. Adj. (properly) disguised as the opposite sex. Turned into the opposite sex (popularly) strange, odd, freakish แปลว่า (อย่างถูกต้องชัดเจน) การปิดบังซ่อนเร้นให้ดูเหมือนเพศตรงข้าม, ยอมกลับไปเป็นเพศตรงข้าม, (ความนิยม) แปลกประหลาด, ผิดปกติ, วิตถาร, ความคิดประหลาด ดูตามรูปคำแล้วก็ตรงกับพจนานุกรม ฉบับภาษาไทย.

๓. หนังสือ พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในวินัยปิฎก ฉบับภาษาบาลี ของมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๕ เล่ม ๔ มหาวรรคภาค ๑ ข้อ ๑๒๕, ๑๒๖, ๑๓๒ มีข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์และหมู่พระไม่พึงให้บรรพชาอุปสมบทบุคคลเหล่านี้ คือ บัณเฑาะก์ เถยยสังวาส และหรือ อุภโตพยัญชนกะ หากฝ่าฝืนให้บรรพชาอุปสมบทย่อมถูกปรับโทษว่าเป็นการทำชั่ว แต่ที่บรรพชาอุปสมบทแล้วพึงให้ฉิบหายหรือให้สึกเสีย (นาเสตัพโพ)
บัณเฑาะก์
บัณเฑาะก์ คือ กะเทย ขันที คนถูกตอน จะตรงกับคนเรียกกันในสมัยนี้ว่า เกย์ ทอม ดี้ ตุ๊ด
เลสเบี้ยน
ในหนังสือสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอน ๑ ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๐๕ หน้า ๑๓๖ วินิจฉัย “บัณเฑาะก์” ว่ามี ๕ ชนิด คือ :-

๑. อาสิตตบัณเฑาะก์ หมายถึง คนผู้ใช้ปากอมองคชาต (อวัยวะเพศ) ของชายเหล่าอื่น เขาถูกน้ำอสุจิรดเอาแล้ว ความเร่าร้อน (ราคัคคิ ไฟแห่งความกำหนัดยินดี) จึงสงบลง นี้ก็บัณเฑาะก์หนึ่ง
๒. อุสุยยบัณเฑาะก์ หมายถึง คนผู้เห็นอัชฌาจาร (เห็นคน สัตว์ประพฤติเสพเมถุน) ของชนเหล่าอื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นในใจตนแล้ว ความเร่าร้อน (โทสัคคิ ไฟแห่งโทสะ คือไฟแห่งความประทุษร้าย) จึงสงบลง นี้ก็บัณเฑาะก์หนึ่ง.
๓. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ หมายถึง คนผู้มีอวัยวะเป็นดังพืชทั้งหลาย (สั้นจู๋และไม่แข็งตัว) แม้จะมีความพยายามก็ไม่เกิดผลแล้ว (พยายามทำการเสพเมถุนไม่สำเร็จ) เนื่องจากเป็นขันที คือผู้ถูกเขาตอน (คนทำหมันประเภทตัดท่ออสุจิที่แก้ไขให้กลับสภาพเดิมไม่ได้อีก ก็สงเคราะห์เข้าในขันทีนี้ด้วย) นี้ก็บัณเฑาะก์หนึ่ง.
ขันที สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ หน้า ๑๙๓๔ นิยามคำไว้ว่า ชายที่ถูกทำลายองคชาตหรือถูกตัดถูกตอนแล้ว ในภาษาฝรั่งเรียกขันทีว่า ยูนุก จีนเรียกว่า ไท้ก่ำ สันสกฤตว่า ษัณฑะ บาลีว่า บัณเฑาะก์ ไทยว่า กะเทย รวมลงความเห็นตรงกับพระพุทธเจ้าสั่งสอนคือ บัณเฑาะก์และ อุภโตพยัญชนกะ รายละเอียดไปดูที่หนังสือสารานุกรมไทยเล่มดังกล่าว.
๔. ปักขบัณเฑาะก์ หรือ ปักษบัณเฑาะก์ (๑ เดือนทางจันทรคติ มี ๒ ปักษ์ คือ ข้างขึ้นเดือนสว่างเรียก ศุกลปักษ์ ส่วนข้างแรมเดือนมืดเรียก กาฬปักษ์) หมายถึง คนผู้เกิดมามีชีวิตกลายเป็นบัณเฑาะก์ (แสดงพฤติกรรม) ในเดือนข้างแรมอันมืดมิด หรือในความมืดที่มีแสงสว่างสลัว ๆ วับ ๆ แวม ๆ ปิด ๆ เปิด ๆ ที่แท้ก็คือขบวนการของคนผู้ประกอบอาชีพทำธุรกิจกลางคืนประเภทขายบริการทางเพศ ทั้งที่เป็นไปโดยตรงและโดยอ้อมทั้งเปิดเผยและลี้ลับ บันเทิงเริงรมย์ทุกชนิด การพนันขันต่อทุกรูปแบบ นักท่องราตรีทุกประเภทก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย และรวมถึงผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในอาชีพพรรค์นี้ทั้งสิ้น นั่นเองคือตัวการ “ปักษบัณเฑาะก์” คราวศุกลปักษ์เดือนสว่างหรือกลางวันมาเยือนเขาจะนอนหลับสบายตลอดทั้งวันเหมือนแมวหรือนกฮูกไม่มีผิด ทำให้ความเร่าร้อน (โมหัคคิ ไฟแห่งความลุ่มหลง) ของเขาจึงสงบลง คนผู้มีจิตใจอยากมีอยากเป็นเช่นนี้ก็ได้มีได้เป็นสมใจอยาก คนผู้มีจิตใจไม่อยากมีไม่อยากเป็นเช่นนี้ก็ได้มีได้เป็นโดยความจำใจหรือความจำเป็นบังคับ บ้างก็อ้างว่าถูกหลอก บ้างก็ว่าเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ว่าเพื่อปากเพื่อท้อง เป็นต้น แต่ความเป็นจริงอยู่ที่อานุภาพแห่งอกุศลวิบากที่รับมาจากพันธุกรรมบวกเข้ากับตนกระทำเพิ่มเติมด้วย (ผลกรรมชั่วดลบันดาลให้เป็นไป รายละเอียดมีในหนังสือการประพฤติผิดในกามทั้งหลายแล้ว) นี้ก็บัณเฑาะก์หนึ่ง.
หากพวกเราให้โอกาสคนผู้เป็น “สัตบุรุษชน” จริง ๆ มาจัดระเบียบสังคมคนกลางคืน คนยากจน สิ่งเสพติดให้โทษต่าง ๆ หรือแม้แต่ขบวนการประพฤติทุจริตคอร์รัปชันด้วยแล้ว เชื่อว่าเมืองไทยและสังคมไทยจักสงบกว่านี้แน่ เพราะสัตบุรุษชนท่านจะให้สติปัญญาสัมมาทิฐิแก่เขาแล้วเขาจักลด ละ เลิกเอง โดยไม่ต้องใช้กฎอะไรทั้งสิ้นมาบังคับก็ได้ เพราะพื้นฐานแห่งใจจริงของทุกคนในโลกปรารถนาความดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่เป็นคนดีไม่ได้ดั่งใจก็อยู่ที่ขาด “สัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ” อย่างเดียว หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องสัมมาทิฐิ (ส่วนปฏิบัติจริง) ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นเหมือนตาลยอดด้วนไปหมดแล้ว ส่วนสัมมาทิฐิตามหลักวิชาการนั้นคนนำมาสั่งสอน นำมาใช้พูดและเขียนกันจนเฟ้อ จึงเกิดสัมมาทิฐิชนิดที่เพ้อฝันขึ้นแก่ประชากรโลกเป็นส่วนมาก ขบวนการอาชีพของคนกลางคืน สิ่งเสพติดให้โทษแก่มนุษย์ ทุจริตคอรัปชั่นในทุกวงการ หรือสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ เป็นต้น จึงเกิดผุดขึ้นมากเหมือนดอกเห็ดบนผืนแผ่นดินไทยนี้ การระงับยับยั้งหรือปราบปรามดูเหมือนจะยิ่งเป็นการยั่วยุให้ กำเริบขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเงาตามตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นธรรมดาของโลกและสัตว์โลกที่ไม่ได้ฝึกจิตใจให้รู้แจ้งโลกหนึ่งล่ะ และอีกอย่างหนึ่งก็เป็นเพราะบุคคลผู้เป็นสัตบุรุษชนจริง ๆ ในสังคมเราเป็นผู้ด้อยโอกาสไปเสีย แต่ก็มีปัญหาอยู่ที่ว่าใครเล่าจะพบเห็นและยอมรับว่าคนเช่นไรคือ “สัตบุรุษชน” ที่แท้จริงกันเล่า ! เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ควรแสดงความเห็นไว้ด้วย.
๕. นปุงสกบัณเฑาะก์ หมายถึง คนผู้เกิดมาไม่มีเพศในคราวถือปฏิสนธิครั้งแรก คือ ไม่ปรากฏว่าเพศชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด นี้ก็บัณเฑาะก์หนึ่ง.

เถยยสังวาส หรือ ไถยสังวาส
เถยยสังวาส คือคนลักเพศ หมายถึง ผู้อยู่ร่วมหมู่โดยความเป็นขโมย หรือคนปลอมบวช ปลอมเป็นทหาร ตำรวจ เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้จึงจัดว่าเป็นคนลักเพศตามความหมายในพุทธศาสนา คนไทยนิยมพูดเสมอว่า ร่วมสังวาส หมายถึงชายหญิงร่วมเพศกันนั้น ไม่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ ขอให้ตั้งสติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวดี ๆ จะรู้ชัดเจน
ในอรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอน ๑ เล่มเดียวกัน หน้า ๑๓๘ ท่านวินิจฉัย เถยยสังวาส คือ คนลักเพศ ไว้ว่า มีอยู่ ๓ ชนิด คือ :-
๑. ลิงคัตเถนกะ คนลักเพศ หมายถึง คนบวชด้วยตนเองแล้วไปอยู่ที่วัดกับพระ ไม่นับพรรษาแห่งภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับอาวุโส ไม่ห้ามอาสนะ (ไม่เลือกอาสนะหรือไม่เลือกที่นั่ง) ไม่เข้าร่วม สังฆกรรมมีอุโบสถ ปวารณา เป็นต้น นี้คือคนลักเพศ.
๒. สังวาสัตเถนกะ คนลักสังวาส หมายถึง คนผู้บรรพชาเป็นสามเณรถูกต้องตามกรรมวิธีในพุทธศาสนา เมื่อตนไปสู่ถิ่นอื่นจึงกล่าวเท็จด้วยการนับพรรษาเหมือนภิกษุว่า ข้าพเจ้า ๑๐ พรรษา หรือว่า ๒๐ พรรษา ยินดีในการไหว้ตามลำดับอาวุโส ห้ามอาสนะ (ไม่นั่งอาสนะต่ำ) ร่วมสังฆกรรมมีอุโบสถและปวารณ เป็นต้น นี้คือคนลักสังวาส.
อนึ่ง ภิกษุที่ลาสิกขาไปแล้วแต่กลับมาอุปสมบทใหม่อีก มีการพูดเท็จนับพรรษาต่อไปจากพรรษาที่ตนบรรพชาอุปสมบทคราวก่อนโน้น ก็สงเคราะห์เข้าในคนลักสังวาสนี้ด้วย
๓. อุภยัตเถนกะ คนลักทั้งสองอย่าง คือทั้งลักเพศและทั้งลักสังวาส หมายถึง คนผู้ลักบวชด้วยตนเองแล้วไปอยู่ที่วัดกับพระ มีการนับพรรษาแห่งภิกษุด้วย ยินดีในการไหว้ตามลำดับอาวุโสด้วย ห้ามอาสนะด้วย (ไม่นั่งอาสนะต่ำ) ร่วมสังฆกรรมมีอุโบสถและปวารณา เป็นต้น ด้วย นี้คือคนลักทั้งสองอย่าง(ทั้งลักเพศและลักสังวาส)
ลักเพศ พระพุทธเจ้าหมายถึง คนปลอมบวช เขาลักออกจากเพศฆราวาสมาปลอมแปลงบวชเป็นเพศบรรพชิต โดยไม่ทำตามกรรมวิธีบรรพชาอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ หรือบวชไม่ถูกต้องตาม หลักพุทธบัญญัติหรือตามกฎหมายพระสงฆ์ แต่ถ้ากฎหมายพระสงฆ์ขัดกับพุทธบัญญัติแล้วก็สงเคราะห์เข้ากับความผิดคือลักเพศนี้เช่นกัน

ในวงการทางบ้านเมืองก็มีคนลักเพศ เช่น ลักแต่งเครื่องแบบทหาร ลักแต่งเครื่องแบบตำรวจ เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ตนก็ไม่เคยรับราชการทหาร ตำรวจมาเลย ดังนั้น “ลักเพศ” จึงไม่ใช่ความหมายว่า กะเทย เกย์ เป็นต้น ตามที่คนทั่วไปเข้าใจกัน กลับมีความหมายตรงกับพจนานุกรมภาษาไทยที่จำกัดความไว้ว่า “แต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน หรือแต่งตัวปลอมเพศ” ภาษาอังกฤษว่า disguised as the opposite sex. การปิดบังซ่อนเร้นให้ดูเหมือนเพศตรงข้าม (ปิดบังเพศพลเรือนไว้ด้วยเครื่องแบบของทหารหรือตำรวจ หรือปิดบังเพศฆราวาสไว้ด้วยการนุ่งห่มเครื่องแบบของบรรพชิต) และตรงกับพุทธศาสนาว่า เถยยสังวาส หรือ ไถยสังวาส ซึ่งมีคำแปลตรงตัวว่า “การร่วมสังวาสกับหมู่พระด้วยความเป็นขโมย” คือคน “ลักเพศ” นั่นเอง แต่คนที่ขาดความสังเกตศัพท์หรือคำแล้วก็โมเมเอาเองว่า ลักเพศนั้นหมายถึงเกย์ กะเทย เป็นต้น สำหรับคำว่าร่วมสังวาส คนไทยส่วนมากหมายถึงการร่วมเพศ (การปฏิบัติกามกิจ) ซึ่งกันและกันในสองคนนั้น แต่พุทธศาสนาหมายถึง การเข้าไปปะปนอยู่กับคนในสังคมนั้น ๆ เรียกว่า “ร่วมสังวาส” ผู้ศึกษาควรระลึกไว้ให้ดีจะได้เป็นคนมีคุณธรรมประกอบด้วย “สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ” จริง ๆ ไม่เลอะเลือน.-
อุภโตพยัญชนกะ
อุภโตพบัญชนกะ คือ ผู้มีอวัยวะเพศทั้งสองในคนคนเดียว (มีอวัยวะเพศชาย – หญิงปรากฏใน คนเดียวกัน) รายละเอียดมีในข้อ ๑๓๒ แล้ว และอุภโตพยัญชนกะนี้ ไปตรงกับคำว่า กะเทย ซึ่งราชบัณฑิตได้นิยามคำไว้ในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒ หน้า ๘๑๐ ว่า :-
กะเทย หมายถึงคนหรือสัตว์ที่มีลักษณะหรือมีอวัยวะเป็นทั้งของหญิงและชาย หรือเป็นทั้งของตัวผู้และตัวเมียจนจำแนกออกเป็นเพศใดเพศหนึ่งไม่ได้ชัดเจน คำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Hermaphrodite (เฮอมาโฟรไดท์) (รายละเอียดในหนังสือสารานุกรมเล่มนี้ทั้งหมด ๑๓ หน้า มีภาพประกอบโดยชัดเจนด้วย แต่ไม่บอกว่าเป็นผลกรรมอะไร)
พจนานุกรม อังกฤษ - ไทย ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ไทยวัฒนาพานิช เขียน hermaphrodite n. (เฮอแม็ฟโรไดท์) -หมายถึงมนุษย์ (สัตว์) ที่มีลักษณะหรือมีนิสัยประจำทั้งสองเพศ; กะเทย; สัตว์ที่มีอวัยวะสืบพันธุ์สองเพศ เช่น ไส้เดือน; ต้นไม้ที่มีทั้งเกษรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน…รวมความว่า “ลักเพศ” พระพุทธเจ้าหมายถึง คนปลอมบวชหรือลักบวช ส่วนคนปลอมเป็นทหาร เข้าในลักเพศได้เช่นกัน สำหรับเพศหญิงแต่งตัวในชุดของชายหรือเพศชายแต่งชุดของผู้หญิง หรือคนผู้มีอวัยวะเพศเป็นชายแต่มีจริตนิสัยเหมือนหญิงหรือผู้มีอวัยวะเพศเป็นหญิงแต่มีจริตนิสัยเหมือนชาย เหล่านี้น่าจะจัดเป็น “บัณเฑาะก์” ไม่น่าจะเป็น “ลักเพศ” เพราะพระพุทธเจ้าหรือบาลีระบุไว้ชัดเจนแล้ว เราน่าจะจำกัดความลงไปก่อนในการใช้คำพูด การเขียน จึงจะไม่เกิดความสับสนได้
กะเทย บทความในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ เรื่อง Sex ผิดทาง โดย สันต์ หัตถีรัตน์ มีว่า เพศกะเทย ประกอบด้วย
๑. กะเทยแท้ (true hermaphrodite) คือ มีทั้งรังไข่และลูกอัณฑะในคนเดียวกัน และรูปลักษณะ ร่างกายภายนอกมีทั้งลักษณะของชายและหญิงปนกัน
๒. กะเทยเทียม (false hermaphrodite) คือ มีอวัยวะเพศอย่างหนึ่ง แต่มีรูปลักษณะร่างกายภายนอกเป็นอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่
- กะเทยหญิง (female hermaphrodite) คือ มีรังไข่ แต่รูปลักษณะร่างกายภายนอกเป็นชาย
- กะเทยชาย (male hermaphrodite) คือ มีลูกอัณฑะ แต่รูปลักษณะร่างกายภายนอกเป็นหญิง
๓. กะเทยไม่มีเพศ (neuter or neutral hermaphrodite) คือ ไม่มีทั้งลูกอัณฑะและรังไข่ รูปลักษณะ ร่างกายภายนอกมักไม่ชัดเจนว่าเป็นเพศใด
๔. กะเทยแต่ง (transvestite) คือ ชอบแต่งกายและทำตนในลักษณะที่ตรงข้ามกับเพศที่แท้จริงของตน นั่นคือ ชายทำตนเป็นหญิงหรือหญิงทำตนเป็นชาย “กะเทยแต่ง” เหล่านี้ถ้าชอบร่วมประเวณีกับ เพศเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นพวก “รักร่วมเพศ” (homosexual) พวกที่เรียกตนเองว่า “เกย์” (gay) ก็จัดอยู่ ในกลุ่มนี้ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย
๕. กะเทยแปลง (transsexual) คือ ตัดหรือถูกตัดอวัยวะเพศของตนทิ้ง และตัดแต่งให้ร่างกายภายนอกมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายเพศตรงข้าม แต่จะไม่สามารถทำให้มีอวัยวะเพศที่แท้จริง คือ มีรังไข่หรือมีลูกอัณฑะได้ ผู้ที่ตัดรังไข่หรือลูกอัณฑะทิ้งไป จึงไม่สามารถมีบุตรที่เป็นเชื้อสายของตนได้
ดูเจตนาของผู้ตั้งคำถามแล้ว น่าจะตั้งว่า อยากทราบว่าวิบากใด หรือกรรมชั่วอะไรจึงทำให้เกิดผลเป็นกะเทย ? เกย์ ทอม ดี้ ตุ๊ด เลสเบี้ยน หรือเป็น บัณเฑาะก์ อุภโตพยัญชนกะ (ยกเว้นเถยยสังวาสหรือลักเพศ)หรือว่ากรรมชั่วอะไรจึงทำให้เป็นคนกลางคืน เป็นต้น คำตอบมีดังต่อไปนี้ คือ :-
คำแปลและความหมายศีลข้อ ๓
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ. ข้าพเจ้า ย่อมสมาทานเอา ซึ่งสิกขาบท คือเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย. สีละ หรือ ศีล (ภาษามคธ หรือภาษาบาลี) เป็นภาษาต่างประเทศ คือภาษาของคนในประเทศอินเดียสมัยโบราณ แปลได้ ๓ อย่าง คือ:-
๑. ศีล แปลว่า ความปรกติ ได้แก่ กายปรกติ วาจาปรกติ ใจปรกติ หมายถึงกาย วาจา ใจ ของคนผู้เป็นมนุษย์ใจสูง ซึ่งเป็นผู้ดำรงชีวิตซึมซาบอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของมนุษย์ ๕ ประการ มีการประพฤติเว้นจากปาณาติบาต (ทำสิ่งที่มีลมปราณและหรือมีชีวิตให้ตกไป) เป็นต้น
กายปรกติ คือกายไม่วิบัติ (มีอวัยวะครบถ้วนถึง ๓๒ ประการ โดยไม่ขาดและไม่เกินในวันคลอด) ไม่พิการ ไม่ทุพพลภาพ ไม่มีโรคาพาธติดตัว เป็นต้น.
วาจาปรกติ คือไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด (คือพูดยุยงให้เขาแตกกันเพื่อตนจะได้ประโยชน์) ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ และคำพูดไม่วิบัติ (พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พูดไม่ออกหรือใบ้ เป็นต้น)
จิตใจปรกติ คือไม่คิดเพ่งเล็งผู้อื่นในแง่ร้าย ไม่คิดพยาบาทหรือปองร้ายผู้อื่นเพื่อให้เขาเดือดร้อน และไม่คิดเห็นผิด (เป็นมิจฉาทิฐิ) จากความเป็นจริง เช่น คิดเห็นเป็นมิจฉาทิฐิในเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องดีเรื่องชั่ว เป็นต้น
๒. ศีล แปลว่า สิ่งที่ทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติตามเป็นคนปรกติ สำหรับเหตุหรือกรรมอันดีที่ให้คนเป็นมนุษย์โดยปรกติและสมบูรณ์ตามแบบฉบับแห่งรูปร่างนั้น อยู่ที่กุศลกรรม (กรรมดี) ในศีลทุกประเภท จัดว่าเป็นโอสถพิเศษสำหรับรักษาชีวิต ทรัพย์สิน เป็นต้น ให้เป็นปรกติได้ด้วย.
๓. ศีล แปลว่า สิ่งที่เป็นสมบัติหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลผู้ปรกติแล้ว เป็น สีลธะนัง ทรัพย์คือศีล ตามหลักแห่งอริยทรัพย์ ๗ อย่าง (พระเสขะ พระอเสขะ ท่านมีอริยทรัพย์ ๗ เป็นทรัพย์สมบัติในชีวิต หรือ มีอริยทรัพย์ ๗ เป็นกรรมสิทธิ์ในการดำเนินชีวิต)
ศีล ๕, ๘, ๑๐, นั้น ย่อมมีคำเหมือนและคำต่างอยู่ทุก ๆ ข้อ เช่น คำเริ่มต้นจะแตกต่างกัน ส่วนอีก ๓ คำหลัง คือ เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ นั้น ย่อมเหมือนกันทุกข้อ อย่างศีลข้อที่ ๓ ว่า :-
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ. แปลว่า ข้าพเจ้า (ตัวใครตัวมัน เพราะเป็นเอกพจน์) ย่อมสมาทานเอา (รับเอามาถือไว้ในใจให้ดีแล้วปฏิบัติตาม) ซึ่งสิกขาบท (บทธรรมบทศีลอันเราพึงศึกษาหรือปฏิบัติ) คือเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย.
ความหมายของศีลในแต่ละบท
ศีล เป็นพุทธบัญญัติ พระองค์ทรงบัญญัติศีลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ส่วนกฎหมายนั้นคนผู้เป็นปุถุชนบัญญัติ และบัญญัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม ดังนั้น ศีลทุก ๆ ข้อ จะเป็นศีล ๕, ๘, ๑๐, เป็นต้น ไม่มีข้อใดแปลว่าห้าม ท่านผู้ใดแปลศีลทุก ๆ ข้อว่าห้าม เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม เป็นต้น โปรดเข้าใจด้วยว่า ท่านผู้นั้นเป็นคนไม่ปรกติ เพราะเขาปฏิบัติทางกาย วาจา และใจผิดศีลเป็นประจำ โรคมิจฉาทิฐิ (โรคความเห็นผิด) โรคทิฐิวิปัลลาส (โรคความเห็นคลาดเคลื่อน) ซึ่งเป็นโรคอย่างยิ่งยวด เข้าไปเสียดแทงปัญญาหรือสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) ให้เสื่อมเสียหรือผุกร่อนไปแล้ว.
การอ่านข้อศีลเช่นศีล ๕, ๘, ๑๐ ในตำรา ในพระไตรปิฎก กรุณาดูคำลงท้ายคือคำว่า “มิ” ตัวนี้ด้วย เพราะ “มิ” แปลว่า ข้าพเจ้า ! หมายถึงการปฏิบัติศีลต้องเป็นอิสระตัวใครตัวมันเท่านั้น การห้ามชื่อว่าเป็นเผด็จการจะตรงทางสายกลางมิได้ การห้ามย่อมชวนให้เกิดคำถามว่าใครเป็นผู้ห้าม เช่นว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ เป็นต้น แล้วใครไปห้ามใคร ? ถ้าตอบว่าห้ามตัวเองไงเล่า ! งั้นก็ไปขัดกันกับคำว่า “สมาทิยามิ” อันเป็นบทท้าย ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้า ย่อมสมาทานเอา (ไม่ใช่แปลว่าข้าพเจ้าย่อมห้าม ในแง่ของการปฏิบัติศีลจริง ๆ แล้ว ไม่มีท่านผู้ใดจะไปห้ามใครว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม เป็นต้น ได้เลย แม้ตัวเองยังไม่สามารถห้ามตัวเองได้ ถ้าเกิดมีได้ก็หมายความว่า เป็น “เผด็จการ” ในการประพฤติศีล ทางพระเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค เป็นทางสายเคร่ง เมื่อเคร่งถึงที่สุด การปฏิบัติศีลสาย สัมมาวายาม คือความเพียรชอบจะขาดสูญไปได้ ส่วนกฎเกณฑ์ที่ปุถุชนบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้ปุถุชนในสังคมปฏิบัติตามใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยน้ำมือของผู้มีอำนาจบ้าง หรือผู้มีอำนาจทำให้พ้นโทษบ้าง สำหรับปุถุชนผู้ปฏิบัติตน “เผด็จการ” ในส่วนนี้มีได้และเป็นได้แน่ !
(บท) เวระมะณี คือเจตนาเป็นเครื่อง (มือ) งดเว้นนั้น หมายถึงความจงใจ ตั้งใจ มุ่งมั่นในอันที่จะเว้นให้ได้โดยสิ้นเชิง และเว้นได้ด้วยสติสัมปชัญญะหรือปัญญาอันตนได้ศึกษา (สิกขาปะทัง) มาตามหลักสัมมาทิฐิโดยสมบูรณ์แล้ว การเว้นได้ในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่ “เผด็จการ” แต่เป็น “ทางสายกลางตัวจริง” ถ้างดเว้นได้ด้วยวิธีเผด็จการ เช่น อดทนเอา หลีกเลี่ยงเอา เป็นต้น ชื่อว่าปฏิบัติศีลไม่สมบูรณ์
(บท) กาม ในคำว่ากาเมสุนั้น แปลว่า ความใคร่ หมายถึงความสนใจ ความเอาใจใส่ หรือความยินดีปรีดา อันคุกรุ่นให้ร้อนระอุรุมเร้าในจิตใจต่อสิ่งยั่วยวนให้เกิดความใคร่เกิดความยินดี ๕ อย่าง
(กามคุณห้า) และคำว่า “กาม” หรือ “กามคุณห้า” นั้น ไม่ได้หมายถึงเพศหญิงเพศชายโดยเฉพาะ แต่ว่า สองเพศนี้เป็นศูนย์รวมแห่งกามคุณห้า หรือเป็น hero คือตัวพระเอกในบทศีลข้อ ๓ หรือในบทธรรมอื่น ๆ หรือในเรื่องเท่านั้น สำหรับกามคุณห้าตามหลักวิชาการหรือตามหลักปริยัติสัทธรรมนั้น คือ :- (ตรวจมาถึงตรงนี้ครับ)
๑. ตา คู่กับรูป รูปธรรมชาติบ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เช่น ตาเห็นคน เห็นรถยนต์ เป็นต้น
๒. หู คู่กับเสียง เสียงธรรมชาติบ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เช่น หูได้ยินเสียงคน เสียงดนตรี เป็นต้น
๓. จมูก คู่กับกลิ่น กลิ่นธรรมชาติบ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เช่น จมูกได้กลิ่นดอกไม้ กลิ่นน้ำหอม เป็นต้น
๔. ลิ้น คู่กับรส รสธรรมชาติบ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง เช่น ลิ้นได้รสเปรี้ยว รสหวาน เป็นต้
๕. กาย คู่กับโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มาสัมผัสถูกต้อง หรือกระทบร่างกายมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อบอุ่น
เจ็บ ปวด ขี้เกียจ ขยัน เป็นต้น
ตา ไปเห็นรูปว่าดี - ไม่ดี นี้ก็เป็นกามหนึ่ง อาจเป็นรูปผู้ชายหรือหญิงก็ได้ หรือรูปอื่น ๆ เช่น รูปเงิน รูปทองคำ รูปรถยนต์ รูปศพเน่า เป็นต้น ก็ได้
หู ไปได้ยินเสียงว่าดี - ไม่ดี นี้ก็เป็นกามหนึ่ง อาจเป็นเสียงผู้ชายหรือหญิงก็ได้ หรือเสียงอื่น ๆ เช่น
เสียงดนตรี เสียงสรรเสริญ เสียงด่า เสียงนินทา เป็นต้น ก็ได้
จมูก ไปได้กลิ่นว่าดี - ไม่ดี นี้ก็เป็นกามหนึ่ง อาจเป็นกลิ่นผู้ชายหรือหญิงก็ได้ หรือกลิ่นอื่น ๆ เช่น กลิ่นดอกไม้ กลิ่นศพเน่า เป็นต้น ก็ได้
ลิ้น ไปรู้รสว่าดี - ไม่ดี นี้ก็เป็นกามหนึ่ง อาจเป็นรสของผู้ชายหรือหญิง (รสจูบ) ก็ได้ หรือรสอื่น ๆ เช่น รสหวาน รสเปรี้ยว รสอร่อยหรือไม่อร่อย เป็นต้น ก็ได้.
กาย ไปสัมผัสเสียดสีโผฏฐัพพะ รู้สึกว่าดี - ไม่ดี นี้ก็เป็นกามหนึ่ง อาจเป็นการสัมผัสเสียดสีกายผู้ชาย
หรือหญิงก็ได้ หรือสัมผัสเสียดสีกับผ้าเนื้อละเอียด หรือผ้าเนื้อหยาบกระด้าง เป็นต้น ก็ได้
สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “กามทั้งหลาย” คือเป็นกามฝ่ายที่ใจว่าดีด้วย ที่ใจว่าไม่ดีด้วย ทางพระหรือทางวัดเรียกรวม ๆ กันว่า กิเลสกามและวัตถุกาม หรือกามคุณห้า.
(บท) สิกขาปะทัง แปลว่า บทธรรมที่ควรศึกษา หมายถึง การศึกษาตามแนวทางแห่งภาษาธรรม หรือจิตใจ หรือ ธรรมาธิษฐาน หรือศึกษาตามหลัก “ไตรสิกขา” เท่านั้น คือ อธิสีลสิกขา สิกขิตัพพา
อธิจิตตสิกขา สิกขิตัพพา และอธิปัญญาสิกขา สิกขิตัพพา (ในอนุศาสน์ ๘ ที่พระอุปัชฌาย์ใช้กับ พระบวชใหม่อยู่แล้ว) มีสิกขาปะทัง (การศึกษา) อยู่ ๓ รูปแบบ คือ :-
๑. ทัสสเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา ธรรม (ปัญหา หรือความทุกข์) บางอย่างอันบุคคลพึงละได้ด้วยทรรศนะ ความเห็น คือสัมมาทรรศนะหรือสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบเท่านั้น หมายความว่า ให้ไปสนทนาหรือไปสอบถาม “ศีล” กับท่านผู้สำเร็จปัญญาสายสัมมาทิฐิ (มีความเห็นชอบ) ที่สมบูรณ์จริง ๆ แล้ว เราก็จะได้ทรรศนะใหม่เป็นสัมมาทรรศนะ หรือเป็นสัมมาทิฐิเกิดขึ้นมาในใจเรา ที่สุดก็สามารถมีเจตนาเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายได้ด้วยสัมมาทรรศนะนั้น (และศีลข้ออื่น ๆ ก็ย่อมงดเว้นได้เช่นกัน) โดยไม่ต้องห้ามหรือไม่ต้องเผด็จการแต่อย่างใด นี้ก็เป็นสิกขาหรือการศึกษาอย่างหนึ่ง. (ที่สั่งสอนหรือศึกษากันตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในวัดและนอกวัดนั้น เป็นการศึกษาแบบปริยัติศึกษาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการศึกษาแบบไตรสิกขาได้เลย มีบ้างก็เป็นเพียงกาฝากเท่านั้น)
๒. ภาวนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ธรรม (ปัญหา หรือความทุกข์) บางอย่างอันบุคคลพึงละได้ด้วยภาวนา สมถะและหรือวิปัสสนาภาวนาสายตรง คือตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจริง ๆ ไม่ใช่ผิดหรือวิปัลลาส เมื่อปฏิบัติถึงที่สุดก็บรรลุถึงเจโตวิมุตติบ้าง ปัญญาวิมุตติบ้าง นี้ก็เป็นสิกขาหรือการศึกษาอย่างหนึ่ง. ผู้ศึกษาแบบไตรสิกขามาถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมสามารถละเว้นได้หมดทั้งโลกเป็น “โลกุตตระ”พ้นโลกไปแล้ว จะป่วยกล่าวไปใยถึงเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลายกันเล่า
๓. เนวทัสสเนนะ นภาวนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ธรรม (ปัญหาหรือความทุกข์) บางอย่างอันบุคคลพึงละได้ด้วยทรรศนะก็ไม่ใช่หรือด้วยภาวนาก็ไม่ใช่ ในทางปฏิบัติแล้วหมายถึง การแสดงออกทางกาย วาจา ใจ ตามธรรมชาติที่เกิดในอารมณ์ของตนจริง ๆ โดยไม่มีความคิดปรุงแต่งแต่อย่างใด และก็ไป –
(๗)
แสดงต่อหน้าท่านผู้ผ่านการศึกษาและปฏิบัติด้านสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขาโดยชอบมาแล้วด้วย เมื่อ
ท่านพบเห็นการแสดงออกท่านก็จะแนะนำพร่ำสอนให้รู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนแสดงออกมานั้น เราก็จะเกิดปัญญาสัมมาทรรศนะใหม่ นี้ก็เป็นสิกขาหรือการศึกษาอย่างหนึ่ง.
(บท) มิจฉาจารา คือความประพฤติผิด หมายถึง ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ตามหลักเกณฑ์แห่งการปฏิบัติจริงกับศีลข้อ ๓ นี้ และมีการประพฤติผิดอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้

ประพฤติผิดในกามทางกาย ดังนี้ คือ :-
๑. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปจับต้อง ลูบคลำ เสียดสีอวัยวะของผู้อื่นที่เป็นอวัยวะมีเจ้าของหวงแหนหรือหวง ห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๒. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปจับต้องหรือเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆ อันมีน้ำหนักพอจะยกเคลื่อนย้ายได้ เช่น ผ้านุ่งผ้าห่ม กระเป๋าใส่เอกสารลับ เป็นต้น ที่มีเจ้าของหวงแหนหรือมีเจ้าของหวงห้ามออกจากที่เดิมไปนี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๓. ตนเองหรือให้ผู้อื่นเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ พื้นที่ ถนนหนทาง ที่มีเจ้าของเขาหวงแหนหรือมีเจ้าของหวงห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๔. ตนเองหรือให้ผู้อื่นขับรถแซง เลี้ยวรถ หรือจอดรถ เป็นต้น ในเส้นทาง ตรอก ซอย ซึ่งคนผู้เป็นเจ้าของในสถานที่ หรือมีจราจรหวงห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง
๕. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปร่วมเพศกับบุคคลที่มีผู้อื่นหวงแหนหรือมีผู้อื่นหวงห้าม เช่น ไปแอบร่วมเพศ กับภรรยาหรือสามีของผู้อื่น หรือแอบร่วมเพศกับบุคคลที่มีบิดา มีมารดา มีพี่น้องชายหญิง เป็นต้น ปกครองดูแลรักษาอยู่ หรือแอบร่วมเพศกับบุคคลผู้ที่มีกฎหมาย มีจารีต ประเพณีอันดีงามคุ้มครองอยู่ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง
๖. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปร่วมเพศกับบุคคลที่ไม่มีใครหวงแหนหรือหวงห้าม เช่น ภรรยาหรือสามีของตน หรือศพ หรือสัตว์เดียรัจฉาน หรืออมนุษย์ เป็นต้น ในลักษณะ “ข่มขืน หรือขืนใจกัน” โดยเขาผู้นั้น (เฉพาะสามีหรือภรรยาตน) ยังไม่มีความพร้อมทางอารมณ์แต่อย่างใด แต่ว่าตนเองเป็นผู้ใช้กำลังข่มขืนเอาจนสำเร็จความใคร่ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.

ประพฤติผิดในกามทางวาจา ดังนี้ คือ :-
๑. ตนเองหรือให้ผู้อื่นใช้วาจาพูดแทะโลม (พูดเกี้ยวพาราสีหรือพูดเลียบเคียงทางชู้สาว) พูดกระซิกกระซี้ เล่นหัวสัพยอกหยอกเย้าชวนเพลินกับหญิงหรือชาย หรือสัตว์เดียรัจฉาน หรือเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ อมนุษย์ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางวาจาอย่างหนึ่ง.
๒. ตนเองหรือให้ผู้อื่นใช้วาจาพูดเป็นคำพูด เป็นประโยค หรือพูดเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ใจสูงไม่ควรจะพูด เช่น พูดคำตลก พูดคำคนอง พูดคำเยาะเย้ย คำเสียดสี คำเปรียบเทียบเปรียบเปรย ใช้ปากร้องรำร้องเพลง ร้องลิเก พูดคำบันเทิง มีการพูดเป็นหนัง เป็นละคร เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางวาจาอย่างหนึ่ง.

ประพฤติผิดในกามทางใจ ดังนี้ คือ
๑. ใจยินดีปรีดา ชวนให้เพลิดเพลินหลงไหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกระแสโลกฝ่ายต่ำจนกระทั่งลืมสติสัมปชัญญะไป มีโมหะ (ความหลงผิด) ครอบงำตลอดชาติ อาจเป็นการยินดีโดยอิสระ

แสดงต่อหน้าท่านผู้ผ่านการศึกษาและปฏิบัติด้านสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขาโดยชอบมาแล้วด้วย เมื่อ
ท่านพบเห็นการแสดงออกท่านก็จะแนะนำพร่ำสอนให้รู้และเข้าใจในสิ่งที่ตนแสดงออกมานั้น เราก็จะเกิดปัญญาสัมมาทรรศนะใหม่ นี้ก็เป็นสิกขาหรือการศึกษาอย่างหนึ่ง.
(บท) มิจฉาจารา คือความประพฤติผิด หมายถึง ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ตามหลักเกณฑ์แห่งการปฏิบัติจริงกับศีลข้อ ๓ นี้ และมีการประพฤติผิดอยู่ ๓ ลักษณะ ดังนี้

ประพฤติผิดในกามทางกาย ดังนี้ คือ :-
๑. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปจับต้อง ลูบคลำ เสียดสีอวัยวะของผู้อื่นที่เป็นอวัยวะมีเจ้าของหวงแหนหรือหวง ห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๒. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปจับต้องหรือเคลื่อนย้ายวัสดุสิ่งของต่าง ๆ อันมีน้ำหนักพอจะยกเคลื่อนย้ายได้ เช่น ผ้านุ่งผ้าห่ม กระเป๋าใส่เอกสารลับ เป็นต้น ที่มีเจ้าของหวงแหนหรือมีเจ้าของหวงห้ามออกจากที่เดิมไปนี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๓. ตนเองหรือให้ผู้อื่นเข้าไปในอาคารหรือสถานที่ พื้นที่ ถนนหนทาง ที่มีเจ้าของเขาหวงแหนหรือมีเจ้าของหวงห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.
๔. ตนเองหรือให้ผู้อื่นขับรถแซง เลี้ยวรถ หรือจอดรถ เป็นต้น ในเส้นทาง ตรอก ซอย ซึ่งคนผู้เป็นเจ้าของในสถานที่ หรือมีจราจรหวงห้าม นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง
๕. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปร่วมเพศกับบุคคลที่มีผู้อื่นหวงแหนหรือมีผู้อื่นหวงห้าม เช่น ไปแอบร่วมเพศ กับภรรยาหรือสามีของผู้อื่น หรือแอบร่วมเพศกับบุคคลที่มีบิดา มีมารดา มีพี่น้องชายหญิง เป็นต้น ปกครองดูแลรักษาอยู่ หรือแอบร่วมเพศกับบุคคลผู้ที่มีกฎหมาย มีจารีต ประเพณีอันดีงามคุ้มครองอยู่ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง
๖. ตนเองหรือให้ผู้อื่นไปร่วมเพศกับบุคคลที่ไม่มีใครหวงแหนหรือหวงห้าม เช่น ภรรยาหรือสามีของตน หรือศพ หรือสัตว์เดียรัจฉาน หรืออมนุษย์ เป็นต้น ในลักษณะ “ข่มขืน หรือขืนใจกัน” โดยเขาผู้นั้น (เฉพาะสามีหรือภรรยาตน) ยังไม่มีความพร้อมทางอารมณ์แต่อย่างใด แต่ว่าตนเองเป็นผู้ใช้กำลังข่มขืนเอาจนสำเร็จความใคร่ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางกายอย่างหนึ่ง.

ประพฤติผิดในกามทางวาจา ดังนี้ คือ :-
๑. ตนเองหรือให้ผู้อื่นใช้วาจาพูดแทะโลม (พูดเกี้ยวพาราสีหรือพูดเลียบเคียงทางชู้สาว) พูดกระซิกกระซี้ เล่นหัวสัพยอกหยอกเย้าชวนเพลินกับหญิงหรือชาย หรือสัตว์เดียรัจฉาน หรือเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ อมนุษย์ เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางวาจาอย่างหนึ่ง.
๒. ตนเองหรือให้ผู้อื่นใช้วาจาพูดเป็นคำพูด เป็นประโยค หรือพูดเป็นเรื่องราวที่มนุษย์ใจสูงไม่ควรจะพูด เช่น พูดคำตลก พูดคำคนอง พูดคำเยาะเย้ย คำเสียดสี คำเปรียบเทียบเปรียบเปรย ใช้ปากร้องรำร้องเพลง ร้องลิเก พูดคำบันเทิง มีการพูดเป็นหนัง เป็นละคร เป็นต้น นี้ก็เป็นการประพฤติผิดในกามทางวาจาอย่างหนึ่ง.

ประพฤติผิดในกามทางใจ ดังนี้ คือ
๑. ใจยินดีปรีดา ชวนให้เพลิดเพลินหลงไหลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นกระแสโลกฝ่ายต่ำจนกระทั่งลืมสติสัมปชัญญะไป มีโมหะ (ความหลงผิด) ครอบงำตลอดชาติ อาจเป็นการยินดีโดยอิสระ จัดว่าเป็นการประพฤติอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) ทางปาณาติบาต คือฆ่าไข่สัตว์ มีไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งมีลมปราณให้ตาย ต่อไปก็จะเกิดผลเป็นแรงจูงใจบันดาลให้ประพฤติผิดในกามทางเพศ ทั้งขึ้นทั้งล่อง (เป็นผู้ทำหรืออาจเป็นผู้ถูกทำ).เหมือนข้าวเปลือกมีเชื้อสดในยุ้งฉาง แม้เราจะเก็บไว้นานหลายปีก็ไม่สามารถงอกเป็นหน่อ ลำต้น เพื่อออกผลได้ เพราะขาดปัจจัยคือน้ำและตมมาสนับสนุนตัวเหตุคือเชื้อสด อันนี้ก็เป็นความจริงหนึ่ง.
ดูอีกมุมซิ ! ข้าวเปลือกที่คนนึ่งสุกดีแล้ว จึงนำไปหว่านลงในน้ำ ตม มีสิ่งแวดล้อมพอเหมาะพอดี เชื่อแน่ว่าไม่สามารถงอกเป็นหน่อ ลำต้น เพื่อออกผลได้เช่นกัน เพราะขาดเหตุคือตัวลมปราณ หรือเชื้อสดไป แม้จะมีน้ำ ตม และสิ่งแวดล้อมเหมาะสมดีอย่างไรก็ย่อมเกิดไม่ได้ นี้ก็เป็นความจริงหนึ่ง.
ดูอีกมุมบ้าง ! ข้าวเปลือกมีลมปราณหรือเชื้อสดด้วย และถูกหว่านลงในน้ำ ตม ที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมดีด้วย ใส่ปุ๋ยอย่างดีลงไปด้วย เจ้าของหมั่นตรวจสอบดูแลรักษาอย่างดีด้วย ข้าวย่อมสามารถงอกเป็นหน่อ มีลำต้น เพื่อออกผลใหม่ได้เป็นอย่างดีมีปริมาณมากมหาศาลด้วย นี้ก็เป็นความจริงหนึ่ง.
กรณีของคนในโลกผู้จะประพฤติผิดในกามทั้งหลายทั้งทางกาย วาจา และทางใจได้นั้น ขึ้นอยู่กับอดีตเหตุซึ่ง -เป็นเชื้อทาง “กรรมพันธุ์” มาเป็นทุนหรือเป็นเหตุเดิมร่วมกับปัจจัยปัจจุบัน (กามคุณห้า) คือนิยมทำปาณาติบาตกับไข่สัตว์มีไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีลมปราณ “มีเชื้อชีวิต” มารับประทานเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน เมื่อมีเหตุและปัจจัยคลุกเคล้าเข้ากันสมส่วน เป็นตัวอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) เต็มที่และสมบูรณ์แล้ว ก็ย่อมเกิดผลเป็นแรงจูงใจดลบันดาลให้ประพฤติผิดในกามทางเพศหลายรูปแบบ ทั้งแบบทำกับเขาและถูกเขาทำกับเราได้ทั้งนั้น โดยไม่มีเทวดา ฟ้า ดิน ไหน ๆ จะมาระงับยับยั้งเขาได้เลย กรุณาตรวจสอบข้ออุปมากับข้าวเปลือกให้ดี ๆ จะเข้าใจชัดเจน
คนใดไม่มีอดีตเหตุซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ให้ประพฤติผิดในกามทางเพศ ไม่ติดเชื้อมาจากบรรพบุรุษมีบิดามารดา เป็นต้น แล้ว ถึงแม้จะประสบกามคุณห้า โดยเฉพาะไข่สัตว์ มีไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น ที่มีลมปราณ (ซึ่งเป็นตัวปัจจัย) ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็ตาม เชื่อแน่ว่าคนผู้นั้นไม่ชอบ ไม่นิยม และไม่ยินดีรับประทานไข่สัตว์เป็นอาหารหลักได้ เพราะเชื้อประพฤติผิดในกามซึ่งเป็นอดีตเหตุคือกรรมพันธุ์ไม่มี เหมือนเมล็ดข้าวเปลือกที่บุคคลนึ่งสุกมีลมปราณหรือเชื้อสดตายแล้ว แม้จะคลุกเคล้ากับปัจจัยคือน้ำตมก็ไม่เกิดผลได้
มีเหตุแต่ขาดปัจจัยก็ดี หรือมีปัจจัยแต่ขาดเหตุก็ดี คนย่อมประพฤติผิดในกามทั้งหลายไม่ได้ แม้จะมีแสงสีหรือมีสิ่งแวดล้อมอันเป็นตัวยั่วยวนขนาดไหนก็ตามทำไม่ได้แน่ นี้ก็เป็นกฎแห่งความจริงหนึ่ง.
เหตุคือเชื้อกรรมพันธุ์มีอยู่ด้วย ปัจจัยคือกามคุณห้า (ไข่สัตว์) ก็มีอยู่พร้อมสรรพ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมก็อำนวยด้วย คนเช่นนั้นก็ย่อมมีโอกาสประพฤติผิดในกามทั้งหลายได้โดยง่ายดาย ประพฤติได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ ด้วย ที่สุดก็ย่อมได้รับผลเป็น อกุศลวิบาก (ผลชั่ว) เป็นระยะ ๆ ไป นี้ก็เป็นกฎแห่งความจริงหนึ่ง.

วิบากหรือผลกรรมจากการประพฤติผิดในกาม (ประพฤติชั่วเป็นเอกทางเพศสัมพันธ์)
กมฺมุนา วตฺตตี ปชา. แปลว่า หมู่สัตว์ (คนด้วย) ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ตนทำ (กุศลกรรม กรรมดีได้ผลดี อกุศลกรรม กรรมชั่วได้ผลชั่ว อัพยากตกรรม กรรมไม่ดีไม่ชั่ว ก็ได้ผลพ้นดีพ้นชั่ว) กล่าวคือ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นเอกทางเพศสัมพันธ์นั้น ย่อมมีเหตุและปัจจัยในชีวิตเขา (พันธุกรรม + ปาณาติบาตไข่สัตว์)


การประพฤติผิดในกามทางเพศเป็นอาจิณนั้น (ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม) จัดเป็นอกุศลกรรม (กรรมชั่ว) ระดับเอกในด้านนี้ ดังนั้น ผลชั่วจะออกมาใน ๒ ลักษณะ คือ :-

๑. เป็นผลชั่วอย่างลึกลับ ปรากฏทางจิตใจ ทางอารมณ์ ทัศนคติ หรือทิฐิ คือ ความคิดความเห็นนั้นย่อมตกต่ำลงไปสู่อบายโลก -(โลกแห่งจิตใจของคนผู้ไม่มีความเจริญ) หรืออบายภูมิ ๖ ประเภท (ตำราว่า มี ๔) เพิ่มอมนุษย์และมารเข้ามาจึงเป็น ๖ คือ :-
ก. จิตใจเหมือนสัตว์นรก และนรกนั้นมี ๔๕๗ ขุม นับจำนวนสัตว์นรกคือคนผู้มีจิตใจตกต่ำไม่ได้ เพราะมีมากมาย นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ข. จิตใจเหมือนเปรต และมีเปรตอยู่ประมาณ ๒๕ จำพวกขึ้นไป (มากกว่า ๒๕ จำพวก) นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ค. จิตใจเหมือนเดียรัจฉาน และมีเดียรัจฉานอยู่ ๔ จำพวกคือ สัตว์สองเท้า สี่เท้า เท้ามาก และสัตว์ไม่มีเท้า นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ฆ. จิตใจเหมือนอสุรกาย มีจำพวกเดียว คือพวกไม่กล้าประพฤติกุศลกรรม คือ กรรมดี ไม่กล้าเว้นอกุศลกรรม คือ กรรมชั่ว เพราะมีความหลงผิดในกรรมชั่วคืออกุศลกรรมว่าเป็นกรรมดี ที่ตนทำอยู่นี้ดีที่สุดแล้ว และหลงผิดในกรรมดีคือกุศลกรรมว่าเป็นกรรมชั่ว ที่ตนไม่กล้าทำแล้ว เป็นต้น นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ง. มีจิตใจเหมือนอมนุษย์ คือเป็นคนไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะอมนุษย์จำพวกคนธรรพ์ (ผู้มีนิสัยสำส่อนทางเพศ) และมีอมนุษย์อยู่อย่างน้อย ๑๒ จำพวกขึ้นไป นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
จ. มีจิตใจเหมือนพญามาร คือ เป็นคนชอบล่อลวงให้ผู้อื่นตายใจด้วยเล่ห์กล หรืออุบายต่าง ๆ เพื่อ ให้เขาหลงกลแล้วก็ผลาญทรัพย์สินเขาบ้าง ผลาญพรหมจรรย์เขาบ้าง ผลาญชีวิตเขาบ้าง เป็นต้น นี้ก็เป็นผลลึกลับของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง

๒. เป็นผลชั่วอย่างเปิดเผย ปรากฏออกมาทางตัวบุคคลผู้เกี่ยวข้อง เช่น :-
ก. กดดันให้สามีหรือภรรยา หรือคู่รักกันปานจะกลืนของหนุ่มสาวคู่นั้นประพฤตินอกใจ ทำให้หวาด ระแวง ทะเลาะวิวาท ชก ต่อย ตบตี เกิดปัญหาหย่าร้าง หรืออาจเกิดรักสามเส้าขึ้นมา ที่สุดอาจถึงทำอัตต-วินิบาตกรรม หรือทำฆาตกรรมซึ่งกันและกันแล้วชำแหละชิ้นส่วนเพื่ออำพรางคดี เป็นต้น ก็ได้ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่มีใครอยากประสบ แต่กรรมชั่วด้านกาเมสุมิจฉาจารดลบันดาลให้เป็นไป นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ข. ผลขยายออกไปหน่อย คือ อาจเกิดเรื่องทางเพศกับคนไกลจากสามีภรรยาหน่อย (ชาย - หญิง) คือกับคนงาน หรือลูกจ้าง เลขานุการ เลขานุการิณี หรือคนใช้ในบ้าน หรือญาติพี่น้องผู้ใกล้ชิด ถูกลวนลามทางเพศในลักษณะถูกข่มขืนกระทำชำเราบ้าง หรือเป็นผู้ไปทำการข่มขืนกระทำชำเราเขาบ้าง หรือถูกโจ๋รุมโทรมขืนใจเป็นหมู่บ้าง เป็นต้น นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ค. ผลปรากฏแก่ลูกสาวหรือลูกชายโดยตรง คือ หญิงถูกล่อลวงไปขายในซ่องนางโลมบ้าง หรือเป็นตัว
การหาล่อลวงหญิงไปขายในซ่องบ้าง หรือตนเองสมัครใจยินดีขายตัวเพื่อแลกกับเงินตราบ้าง เพื่อความ

(๑๑)
สนุกสนานโดยตรง ๆ บ้าง หรืออาจถึงขนาดประกอบอาชีพเป็นคนหากินกลางคืนระดับเจ้าของผู้จัดการสถานบันเทิงต่าง ๆ หรือเป็นระดับแม่เล้า แมงดา นางโลม แม่สื่อ เป็นต้น นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง
ฆ. ผลปรากฏโดยตรงกับลูกสาวหรือลูกชายของตน คือ จะได้ลูกเกิดมาเป็นคนมีเพศวิบัติ (สีลวิบัติ ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร) ได้แก่ เพศกะเทย คือหญิงหรือชายประเภทสองนั้นเอง มีคนแยกส่วนเพศนี้ว่า เกย์บ้าง เกย์คิงบ้าง เกย์ควีนบ้าง ตุ๊ดบ้าง ดี้บ้าง ทอมบ้าง ทอมบอย (tomboy) บ้าง เป็นต้น แต่ทางพระเรียกว่า “บัณเฑาะก์” หรือ “กะเทย” จัดว่า เป็นอภัพพบุคคล คือ ผู้ไม่ควรปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสายตรง เพื่อบรรลุถึงมรรค ผล นิพพานได้ ท่านจึงบัญญัติวินัยไว้ว่า อุปัชฌาย์ไม่ควรบวชให้ นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ง. ตัณหา ซึ่งเป็นเจตสิกของคนประเภทนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบไปถึงจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ และจะถูกบันทึกเป็นกามาสวะไว้ใน DNA (ดีเอ็นเอ) หรือ deoxyri bonucleic acid (กรดดีออกซีไร โบนิวคลีอิก อะชิด) ซึ่งเป็นสารหรือแก่นพันธุกรรมของคนพรรค์นี้ สำหรับทำหน้าที่กำหนดลักษณะในการแสดงออกทางเพศวิบัติ “กะเทย” ดังกล่าวแล้วนั้น เพื่อสืบเผ่าพันธุ์เป็นมรดกตกทอดถึงลูก หลาน เหลน โหลน…ต่อ ๆ ไปในโลกให้ยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด และนับวันคนประเภทนี้จะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเหตุ และปัจจัยอันเป็นตัวนำให้คนประพฤติผิดในกามทั้งหลายก็เพิ่มขึ้นมากมายทวีคูณ เป็นเงาตามตัว เพราะโครงสร้างทางการศึกษาเพื่อให้คนได้รู้และเข้าใจชีวิตหรือพฤติกรรมตามรูปแบบ “สิกขาปะทัง” หรือรูปแบบ “ไตรสิกขา” จริง ๆ นั้นถูกเหยียบย่ำหรือย่ำยีด้วยปริยัติศึกษาหมด และหมู่คนผู้จบปริยัติก็สามัคคีกันเปล่งอุทานออกมาว่า ข้า ฯ คือผู้รักเคารพและหวงแหน พุทธศาสนา เป็นอย่างยิ่งและแท้จริง ! เป็นต้น นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
จ. เมื่อกรรมชั่วคือการประพฤติผิดในกามทางเพศตามทันเข้า ณ ที่แห่งใดก็ตาม เขาผู้ประพฤติกรรมนั้นอาจถูก ฆาตกรรมบ้าง อาจเป็นฆาตกรฆ่าเขาบ้าง อาจทำอัตตวินิบาตกรรมบ้าง อาจประสบอุปัตติภัยในท้องถนนบ้าง อาจมีโรคร้าย เช่น “เอดส์” เป็นต้น เข้าแทรกแซงชีวิตได้บ้าง นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ฉ. คนผู้ประพฤติผิดในกามทางเพศเป็นอาจิณก็ดี หรืออาจประพฤติผิดในกามด้านอื่น ๆ เป็นอาจิณก็ดี ถ้าหากไม่ได้รับผลกรรมตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เขาจะเกิดมาเป็นคนหมัน (หญิงหมัน ชายหมัน) นี้ก็เป็นผลเปิดเผยของการประพฤติผิดในกามอย่างหนึ่ง.
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก เล่ม ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๒๗๔ พระพุทธองค์ทรงแสดง อลคัททูปมสูตร สูตรว่าด้วย (โทษในกาม) อุปมากับอสรพิษ ๑๐ ประการ คือ :-

๑. อฏฺฐิกงฺขลูปมา กามารมณ์เปรียบด้วยร่างกระดูก คือร่างกระดูกนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สุนัขบ้านและสุนัขป่ายินดีเข้า
ไปแทะเลียอย่างเอร็ดอร่อยเป็นอย่างยิ่งโดยไม่รู้จักอิ่ม ฉันนั้นเหมือนกัน กามารมณ์ทั้งหลายก็ เป็นที่ยินดีของปุถุชน และปุถุชนทั้งหลายก็เสพกามารมณ์เหล่านั้นอย่างเอร็ดอร่อยโดยไม่รู้จักอิ่ม ฉันนั้นเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ร่างกระดูกไม่มีเนื้อพอที่จะทำให้สุนัขอิ่มได้ แต่สุนัขก็ยังชื่นชมยินดีต่อร่างกระดูกอยู่ เพราะในขณะที่มันนอนแทะร่างกระดูกอยู่นั้น
ก็มีน้ำลายไหลออกมาไม่ขาดระยะจึงรู้สึกเอร็ดอร่อยเรื่อย ๆ แม้กามารมณ ์ก็ไม่มีจุดไหนที่พอจะทำให้ปุถุชนอิ่มได้ฉันนั้นเหมือนกัน

๒. มํสเปสูปมา เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ คือชิ้นเนื้อนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลาย มีแร้งกา เป็นต้น ยื้อแย่งกัน เมื่อสัตว์มีกา เป็นต้น คาบชิ้นเนื้อไปได้ สัตว์อื่นหรือกาตัวอื่นย่อมบินตามเพื่อแย่งเอาชิ้นเนื้อนั้นมาเป็นของตน ฉันใด คนผู้ใดได้กามารมณ์ไปหรือมีกามารมณ์อยู่ในครอบครอง ผู้นั้นก็ย่อมถูกบุคคลอื่นคิดยื้อแย่งกามารมณ์นั้นไปเป็นของเขา เหมือนกัน
๓. ติณุกฺกูปมา เปรียบด้วยคบเพลิง คือผู้ใดถือคบเพลิงไปในที่ทวนลมจะทำให้คบเพลิงนั้นหวนกลับมาไหม้ผู้ถือได้ ฉันใด ปุถุชนท่านใดยึดติดอยู่ในกามารมณ์ ปุถุชนท่านนั้นย่อมถูกกามารมณ์หวนกลับมาเผาลนจิตใจให้เร่าร้อน ฉันนั้นเหมือนกัน
๔. องฺคารกาสูปมา เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง คือผู้ใดตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง ผู้นั้นจะต้องตายหรือได้รับทุกข์แทบตาย เช่นเดียวกับคนผู้ตกอยู่ในอำนาจกามารมณ์ คือความรักใคร่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว ผู้นั้นย่อมจะได้รับทุกข์อันใหญ่หลวง มีทุกข์ในการตากฝนทนแดด เป็นต้น และตกลงสู่มหานรกเป็นที่สุด ฉันนั้นเหมือนกัน
๕. สุปินกูปมา เปรียบเหมือนความฝัน คือสิ่งที่ฝันเห็นในเวลานอนหลับนั้น แต่พอตื่นขึ้นสิ่งนั้นก็พลันหายไปไม่จีรังยั่งยืนได้หรือไม่มั่นคงถาวร ฉันใด กามารมณ์ที่ปุถุชนรักใคร่หวงแหนนักหนานั้นก็เป็นสิ่ง
ที่ไม่ยั่งยืนอยู่ได้นาน ไม่ช้าก็จะกลับกลายเป็นของน่าเกลียดหรือพลัดพรากจากไปในที่สุด ฉันนั้น เหมือนกัน
๖. ยาจตกูปมา เปรียบเหมือนของที่ขอหรือยืมเขามา คือ จะต้องส่งคืนเจ้าของเขาโดยเร็ว ฉันใด ธรรมดากามารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมจะหายไปโดยเร็ว ฉันนั้นเหมือนกัน
๗. รุกขผลูปมา เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีผล คือ เมื่อต้นไม้ต้นใดปรากฎว่ามีผลเต็มต้นอยู่ ต้นไม้ต้นนั้นจะต้องถูกหักกิ่งก้านรานใบเพื่อเอาผล ฉันใด คนผู้มีกามารมณ์ เช่น บุตร ภรรยา สามี สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า เท้ามาก หรือสัตว์ไม่มีเท้า หรือมีทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น เงินหรือธนบัตร ทองคำรูปพรรณ เป็นต้นย่อมจะต้องมีผู้เป็นศัตรูคู่อาฆาตคิดเบียดเบียน มีความพยายามทำโจรกรรม เป็นต้น อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์กายทุกข์ใจต่าง ๆ แก่คนผู้ถูกเบียดเบียนนั้น เหมือนกับต้นไม้ที่มีผล ฉันนั้นเหมือนกัน
๘. อสิสูนูปมา เปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ คือ เขียงสับเนื้อย่อมกร่อนไปเรื่อย ๆ เพราะถูกคนนำไปเป็นอุปกรสำหรับรองสับเนื้อบ่อย ๆ ฉันใด ท่านผู้ติดอยู่ในกามารมณ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับรองรับความทุกข์กายและใจ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
๙. สัตติสูลูปมา เปรียบเหมือนหอกและหลาวเหล็ก คือ หอกแหลมหลาวนั้นย่อมเป็นสิ่งที่นำไปแทงสัตว์ทั้งหลายให้ตาย หรือให้ได้รับทุกขเวทนากล้า ฉันใด กามารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ทิ่มแทงสัตว์โลกผู้เป็นปุถุชนอยู่ให้ถึงความตาย หรือทิ่มแทงให้ได้รับทุกขเวทนากล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
๑๐. สัปปสิรูปมา เปรียบเหมือนหัวงู คือ ธรรมดาพิษของงูย่อมมีอยู่ที่ศีรษะก่อน แล้วจึงหลั่งไหลไปตามเขี้ยวสำหรับขบกัดสัตว์อื่นให้ถึงแก่ความตาย หรือให้ได้รับทุกข์แทบตาย ฉันใด กามารมณ์ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีพิษสงสำหรับขบกัดปุถุชนผู้ติดอยู่ให้ตาย หรือให้ได้รับทุกข์แทบตาย ฉันนั้นเหมือนกัน
และในสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๒๓๗ พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ การกล่าวธรรมคำสั่งสอนไปตามลำดับ มีอยู่ ๕ ลำดับ ในลำดับที่ ๔ กล่าวถึงโทษแห่งกามไว้ว่า ทำให้จิตใจเศร้า
หมองไม่ผ่องใสด้วย และอนุปุพพิกถา ๕ นั้น คือ

(๑) ทานกถา กล่าวถึงการทานก่อน โดยมีการทานอยู่ ๓ ลักษณะ คือ ทานปารมี ทานวัตถุสิ่งของที่ ควรทาน เช่น ปัจจัย ๔ เป็นต้น ทานอุปปารมี ทานด้วยการเสียสละหรือปลีกตัวออกจากสิ่งที่ไม่ดี ด้วยวิธีการงดเว้นให้ห่างไกล เช่น งดเว้นจากการเกี่ยวข้องกับอบายมุข ๖ อย่าง มีงดเว้นจากการเล่นการพนันเลี้ยงชีพ เป็นต้น และอกุศลกรรม ๑๐ อย่าง มีงดเว้นจากการทำปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เป็นต้น และ ทานปรมัตถปารมี ทานรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิด ความโลภ ความโกรธ และความหลงอย่างใหญ่หลวง ทานด้วยวิธีการ ตั้งสติ กำหนด บริกรรม ภาวนา ตามหลักวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ จะได้มีจิตเป็นอุเบกขา คือ ไม่ยินดีและไม่ยินร้ายต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ การไม่ยินดีไม่ยินร้ายนี้เองเรียกว่า ทานปรมัตถปารมี

(๒) สีลกถา กล่าวถึงการปฏิบัติศีล ศีลอันเป็นศีลที่ดีที่ให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุถึงความเป็นพระอริย-บุคคล ที่เรียกว่า “อริยกันตศีล” หรือศีลที่พระอริเจ้าต้องการ คือ ปฏิบัติศีลไม่ให้ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย และปฏิบัติศีลให้เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ ไม่ลูบ ๆ คลำ ๆ ศีลด้วยตัณหาและทิฎฐิ และปฏิบัติศีลให้ เป็นไปเพื่อสมาธิ คือ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบด้วย

ในหนังสือปัญจมสมันตปาสาธิกา
อรรถกถาพระวินัย ปริวาร วัณณนา ข้อ ๔๘๕ ถึง ๔๘๖ แก้ไว้ว่า “อริยกันตศีล” นั้น ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าพอใจแล้ว ได้แก่ ศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย และปฏิบัติศีลให้เป็นไท (อิสระ)
๑. อขัณเฑหิ โดยไม่ขาด หรือไม่ด้วน กล่าวคือ ศีล ๕ ก็ดี ๘ ก็ดี ๑๐ ก็ดี หรือศีลของภิกษุคืออาบัติ ๗ กองก็ดี ซึ่งเป็นข้อศีลอันตนควรปฏิบัติก็ปฏิบัติแล้วเกิดเป็นคุณแก่ตนนั้น มีการปฏิบัติได้ไม่ครบจำนวน ขาดสลายไปในข้อเบื้องตนหรือเบื้องปลายก็ตาม ชื่อว่า ศีลของท่านนั้น ๆ ขาดหรือด้วนไปแล้ว เปรียบเหมือนผ้าขาดหรือด้วนที่ชายโดยรอบ ฉะนั้น
๒. อัจฉิทเทหิ โดยไม่ทะลุ คือ จำนวนข้อศีลของเขาทั้งหมดถูกทำลายเสียตรงข้อกลาง ไม่ใส่ใจในการปฏิบัติ ดังนั้น ศีลของเขาจึงชื่อว่า “ทะลุ” เปรียบเหมือนผ้าที่เป็นช่องทะลุตรงกลาง ฉะนั้น
๓. อสพเลหิ ศีลไม่ด่าง คือจำนวนข้อศีลของเขาทั้งหมดนั้น ถูกทำลายไปเสีย ๒ ข้อหรือ ๓ ข้อ ตามลำดับ โดยเขาไม่ใส่ใจต่อการปฏิบัติ ดังนั้น ศีลของเขาจึงชื่อว่า“ด่าง”เปรียบเหมือนแม่โคมีสีตัวดำและแดง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งและสลับกับสีซึ่งไม่เหมือนกันที่ผุดขึ้นบนหลังหรือใต้ท้อง ฉะนั้น
๔. อกัมมาเสหิ ศีลไม่พร้อย คือ จำนวนข้อศีลของเขาทั้งหมดนั้น ถูกทำลายเสียในระหว่าง ๆ แต่ไม่ใช่ ถูกทำลายเรียงลำดับข้อ หรือไม่ถูกทำลายในข้อเบื้องต้นและข้อเบื้องปลาย โดยเขาไม่ใส่ใจต่อการปฏิบัติในส่วนนั้น ดังนั้นศีลของเขาจึงชื่อว่า “พร้อย”
(๓) สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์ สวรรค์ คือ เทวโลก อันเป็นโลกของคนผู้มีจิตใจ อารมณ์ และมีทัศนคติอันดีเลิศ ซึ่งเป็นผลกรรมส่วนที่ดีของกาม ที่จะพึงได้รับในชาติปัจจุบันเมื่อตนประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ๒ ข้อเบื้องต้นนั้น คือ ยินดีในการสละทาน โดยเลือกทานแต่เฉพาะที่เป็นเนื้อนาบุญของโลก และยินดีในการประพฤติปฏิบัติศีลตามฐานะของตน คือ เจตนางดเว้นจากการทำปาณาติบาต (ไม่นิยมฆ่าสัตว์) เป็นต้น และปฏิบัติให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ไม่ให้ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท

๔) กามาทีนะวะกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม โทษแห่งกาม คือ อบายโลก (อบายโลก คือ นรก เปรต เดียรัจฉาน อสุรกาย อมนุษย์ มาร) อันเป็นโลกของคนผู้มีจิตใจ อารมณ์ และมีทัศนคติที่เสื่อมหรือไม่เจริญ ซึ่งเป็นผลกรรมส่วนไม่ดีของกาม ที่จะ พึงได้รับในชาติปัจจุบัน เมื่อตนประพฤติปฏิบัติตรงกันข้ามกับธรรม
๒ ข้อเบื้องต้นนั้น คือ ตนก็ไม่ยินดีในทานและก็ไม่แนะนำให้ผู้อื่นทำทาน สะสมแต่ความตระหนี่ตลอดชาติ และปฏิบัติตนให้ล่วงละเมิดศีล มีความจงใจหรือเจตนาทำปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) เป็นต้น อยู่ตลอดชีวิต ดังนั้น จึงได้รับโทษจากการบริโภคกาม คือ ตกนรก เป็นต้น
(๕) เนกขัมมานิสังสะกถา กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการออกบวช อานิสงส์แห่งการออกบวชหรือออกจากกาม (ออกจากกาม ๓ หลัก คือ ทัศนะ ภาวนา การแสดงออก) เมื่อคนผู้ใดออกจากกามได้แล้ว ย่อมสามารถฟัง อ่าน เข้าใจซึ่งอริยสัจ ๔ ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสตร์แบบจดจำ เหมือนกูฏทันตะพราหมณ์ ที่ฟังพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เรื่อง อนุปุพพิกถา ๕ ในครั้งนั้น ก็เลิกละการบูชายัญรูปแบบของพราหมณ์ มาบูชายัญคือ ทำทานเป็นนิจ ปฏิบัติศีลเป็นนิจ ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกตลอดชีวิต แล.
ท่านสาธุชนทั้งหลาย โปรดตรองดูหลักฐานและเหตุผลให้ดี ๆ เถิด แต่อย่าให้เป็นเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ถู ๆ ไถ ๆ ก็แล้วกัน จะได้ทราบความจริงตามแนวทางปฏิบัติ ในศีลข้อ ๓ ว่า กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขา ปะทัง สะมาทิยามิ.
แปลว่า ข้าพเจ้า ย่อมสมาทานเอา ซึ่งบทธรรมอันตนพึงศึกษาให้ดี คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ดังนี้.

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

thammiga ตอบปัญหาข้อที่ 2

"ในปัจจุบันเยาวชนบางคนถือว่า การมีเพศสัมพันธ์(ก่อนแต่งงาน) ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เสียหายอะไร หากคนทั้งสอง (คู่นอน) เขาพร้อมใจกัน อะไรเป็นสาเหตุให้เยาวชนบางคนเป็นเช่นนี้"
ลักษณะของคำว่า เหตุผล
คำว่า “เหตุผล” เหตุ + ผล = เหตุผล หมายถึง การที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อตัวปรากฏขึ้นนั้น ย่อมมีสาเหตุให้สิ่งนั้นเกิดเป็นผลปรากฏขึ้นมา หรืออาจจะกล่าวว่า สิ่งนี้เกิดปรากฎขึ้นมาแล้วจะเป็นสาเหตุให้เกิดเป็นผลต่อ ๆ ไปในภายหน้า
เมื่อคำจำกัดความของ “ เหตุผล” ออกมาในลักษณะเช่นนี้แล้ว ผู้ทำการวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ พิจารณา เพื่อให้ได้ข้อสรุปลงในหลักแห่งความเป็นจริงของสิ่งนั้น ๆ ควรจะมีหลักอะไรมายืนยันจึงยะเป็นข้อยุติได้ เนื่องจากว่า สิ่งที่เกิดปรากฏขึ้นมานั้น ย่อมเป็นไปได้ทั้งตัวเหตุและทั้งตัวผลอยู่ในตัวเดียวกัน
พุทธศาสนา หรือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในธรรมวิภาค ปริเฉทที่ ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๓๔/๒๕๒๗ มีอยู่ในหน้า ๓ ความว่า เทสนา ๒ อย่าง คือ
๑. ปุคคลาธิฏฐาน มีบุคคลเป็นที่ตั้ง
๒. ธัมมาธิฏฐาน มีธรรมเป็นที่ตั้ง (บอกที่มาว่า สทฺ ปฏิ.๗๗.)
เทสนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง ได้แก่ ความหมาย ประโยชน์ หรือเหตุผลที่เป็นไปตามหลักแห่ง “ภาษาคน” หรือความหมายตามหลักแห่งภาษาหนังสือ ปริยัติ พระสูตร พระวินัย เป็นภาษา
แห่งสุตามยปัญญาบุคคล จินตามยปัญญาบุคค เช่น คำว่า ประโยชน์ เหตุผล ที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักจิตวิทยา หลักปรัชญา หลักสังคมศาสตร์ หลักสังคมวิทยา เป็นต้น เรียกว่า “บุคคลาธิฏฐาน” คือ เหตุผลตามหลักแห่งภาษาคน นำมาปฏิบัติไม่ได้ ถ้าได้ก็ไม่มีที่ยุติ
เทสนามีธรรมเป็นที่ตั้ง ได้แก่ ความหมาย ประโยชน์ หรือเหตผล ที่เป็นไปตามหลักแห่ง
“ภาษาธรรม” หรือความหมายตามหลักแห่งภาษาจิต ภาษาปฏิบัติ ซึ่งเป็นภาษาแห่งภาวนามยปัญญาบุคคล เป็นการปฏิบัติได้จริง แต่ที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎก จะมีใช้เฉพาะคำว่า “เหตุปัจจัย” หรือ คำว่า “เหตุ” หรือ คำว่า “กรรม คือ เหตุ วิบาก คือ ผล” เท่านั้น แต่จะมีความหมายต่างกันกับคำว่า “เหตุผล” ที่สุตามยปัญญาบุคคล และจินตามยปัญญาบุคคลนำมาใช้พูดกันโปรดไตร่ตรองให้ดี
เหตุผลตามหลักภาษาธรรม (เป็นความจริง)
ภาษาธรรม เช่น คำถามที่อุปติสสมาณพถามพระอัสสชิ ในสุตตันตปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่ม ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ ข้อ ๓ ข้อความที่พระอัสสชิตอบมาณพว่า “ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิดว่า พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปรกติตรัสอย่างนี้” (สรุปว่า มีเหตุและปัจจัย จึงจะเกิดเป็นผล)
๑. (เหตุ) การที่เยาวชน (ลูกคน) คิดมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งนั้น มีเหตุเป็นแดนเกิด คือ
มีกรรมชั่วเป็นเผ่าพันธุ์รับมรดกจากมารดาบิดา ได้เป็นทุนมาเกิดในท้องแม่ผู้มีเพศสัมพันธ์กับคนที่มิใช่มนุษย์ ๖ เผ่าพันธุ์ก่อน คือ
(๑) คนสัตว์นรก
(๒) คนเปรต
(๓) คนเดียรัจฉาน
(๔) คนอสุรกาย
(๕) คนอมนุษย์
(๖) คนมาร
โปรดตรวจตราดูสัตว์เดียรัจฉานบางประเภทที่เราท่านเห็นกันอยู่ เช่น สุนัข แมว วัว ควาย
เป็นต้น ทั้งที่มีคนเลี้ยงและไม่มีคนเลี้ยง จะมีเพศสัมพันธ์กันอย่างหน้าเฉย ไม่แยแสว่า ใครจะมามุงดูหรือไม่ดู เพราะเป็นความปรกติธรรมดาของเขา ฉันใด คนเผ่าพันธุ์เดียรัจฉาน เป็นต้น ก็ฉันนั้น (นี้ คือ สาเหตุจริง และมีปัจจัยมาสนับสนุนด้วย)
๒. (ปัจจัย) ในข้อแรกบอกว่า มีสาเหตุอยู่เกิดกับคนเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่มนุษย์ พอมาถึงข้อ
สอง คือ มีปัจจัยมาสนับสนุนก่อน หรือกรรมสนับสนุน เช่น ทำปาณาติบาต คือ ฆ่าสิ่งที่มีชีวิตบ้าง (ฆ่าสัตว์มีชีวิต) ฆ่าสิ่งมีลมปราณบ้าง (ฆ่าไข่สัตว์) ฆ่าโดยตรงก็มี ฆ่าโดยปริยายก็มี ฆ่าด้วยตนเองก็มี ใช้ให้คนอื่นฆ่าก็มี หรือผู้อื่นฆ่าเจาะจงนำมาให้เราก็มี(โดยเฉพาะการทุบหรือฆ่าไข่เป็ด ไข่ไก่ที่สดอยู่ เป็นต้น เป็นกรรมปัจจัยสนับสนุน)
๓. (ผล) ผลที่ได้รับต่อเนื่องมาจากเหตุและปัจจัย (เหตุปัจจัยที่ทำมาเรื่อย ๆ อาจหลายสิบปีจึงจะได้รับผลเต็มที่) ตัวอย่าง เช่น เรื่องเด็กระดับมัธยม “ล่าแต้ม” โดยล่ามาแล้ว ๙๖ ราย ภายใน ๖ ปีที่นางศิริรัตน์ แอดสกุล ได้นำเสนอผลวิจัยออกมานั้น(หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช 2551 หน้า 13) จัดอยู่ในระดับแรก เขาได้เหตุถ่ายทอดมาจากมารดาบิดาเป็นต้นทุน โดยมีปัจจัย คือ ปัจจุบันก็ทำปาณาติบาต ฆ่าสิ่งมีลมปราณ (ฆ่าไข่สัตว์ มีไข่เป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น เป็นกรรมระดับสอง ทำเป็นปัจจัยสนับสนุนส่วนที่เป็นอกุศลวิบากหรือผลกรรมชั่วที่เปิดเผย (ผลระดับสาม) ยังไม่ปรากฏออกมา ซึ่งมีอยู่ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ราชภัย ภัยเกิดแต่ราชการ
๒. โจรภัย ภัยเกิดแต่โจร
๓. อัคคีภัย ภัยเกิดแต่ไฟ
๔. วาตภัย ภัยเกิดแต่ลม
๕. อุทกภัย ภัยเกิดแต่น้ำ
๖. โรคะภัย ภัยเกิดแต่โรค
๗. อุปัตติภัย ภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
๗. วิวาทะภัย ภัยเกิดแต่การทะเลาะวิวาท
๙. ทุพภิกขภัย ภัยเกิดแต่ข้าวยากหมากแพง
๑๐. วินาศภัย ภัยที่ฉิบหายอย่างร้ายแรง
ส่วนข่าวเรื่อง อาจารย์ในมหาวิทยาลัย... ทำอนาจารนักศึกษา มีผู้จับได้คาหนังคาเขา และถูกทางการดำเนินคดีนั้น อันนี้เป็นอกุศลวิบากหรือเป็นผลกรรมที่เปิดเผยแล้ว (เหตุ คือ ทุนเดิมหรือเผ่าพันธุ์จากมารดาบิดามาเป็นเหตุให้ลูกคนนี้ได้ทำ ปาณาติบาต เป็นปัจจัยและเหตุไปในตัว คือ ฆ่าสิ่งมีชีวิตและมีลมปราณ (สัตว์มีชีวิตบ้าง สิ่งมีลมปราณ มีไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นก เป็นต้น) ทำต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ นานถึง ๔๐ กว่าปี จึงได้รับผลเปิดเผยประสบภัย คือ “ราชภัย” ออกมาและกรรมนี้ยังไม่มีการยุติได้ เมื่อยังไม่มีปัญญาไปดับที่ “เหตุ” คือ อาสวะ เครื่องมักดองในสันดานเดิม ๆ โน้น
สำหรับเด็กที่ล่าแต้มเป็นว่าเล่น ที่ยังไม่ได้รับผลชั่วอย่างเปิดเผยก่อน (ยังเพลิดเพลินสนุกสนานอยู่) นั้น อันที่จริง จิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ หรือปัญญา ความรู้สึกนึกคิดของเขานั้น ท่องเที่ยวไป ๆ มา อยู่ใน “อบายโลก” คือ โลกของคนผู้มีจิตใจเสื่อมจากความเป็นมนุษย์แล้ว ๖ เผ่าพันธุ์ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น มีความเป็นคนสัตว์นรก เป็นคนเดียรัจฉาน เป็นต้น

thammiga ตอบปัญหาข้อที่ 1

"ท่านเชื่อหรือไม่ว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ในอดีต จะถูกถ่ายทอดไปยังลูก ๆ ของตน ถ้าเชื่อว่า เป็นไปได้ ก็ให้ท่านอธิบายตามเหตุและผลที่รู้มา หรือถ้าเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ก็อธิบายตามเหตุและผลเช่นกัน"
เชื่ออย่างยิ่งว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ย่อมถูกถ่ายทอดไปยังลูก ๆ ได้
พฤติกรรมของลูกคนทั้งโลก จะระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่ดีหรือเลวนั้น ย่อมมีทัศนแตกต่างกันไป ตามวิสัยของคนผู้มอง (นานาทัศนะ) แต่ในที่นี้จะนำเอาคำว่า พฤติกรรมที่ดีหรือเลวตามทัศนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น มาเป็นหลักในการอธิบาย เพราะเป็นความดีหรือเลวที่เป็นสูตรสากลจริง ๆ ทัศนของคนอื่น ๆ เป็นสากลไม่ได้
พฤติกรรมหรือ กรรมไม่ดีและกรรมดีของคนท่านตรัสไว้ใน สุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๑ เล่ม ๓ ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ข้อ ๓๕๙-๓๖๐ ความว่า อกุศลกรรมบถ พฤติกรรม หรือกรรมไม่ดีของคน ๑๐ อย่าง และกุศลกรรมบถ พฤติกรรมหรือกรรมดีของคน ๑๐ อย่าง
อกุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ไม่ดี ๑๐ อย่าง
๑. การยังสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณให้ตกล่วงไป
๒. การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้แล้ว
๓. การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
๔. การพูดเท็จ
๕. การพุดส่อเสียด
๖. การพุดคำหยาบ
๗. การพูดเพ้อเจ้อ
๘. ความคิดเพ่งเล็งเขาในแง่ร้ายหรืออยากได้ของเขา
๙. ความคิดปองร้ายเขา
๑๐. ความเห็นผิด
อกุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ไม่ดีทั้ง ๑๐ อย่างเหล่านี้ บางสิ่งบางอย่าง มารดาบิดาอาจทำและจดจำไว้แล้วก็ได้ บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้ทำไว้เลยก็ได้ กรณีนี้เองที่เป็นการถ่ายทอดเป็นมรดกตกไปถึงลูก ๆ หลาน ๆ ในเมื่อทำให้เขาได้เกิดมา
กุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ดี ๑๐ อย่าง
๑. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการยังสัตว์มีชีวิตและมีลมปราณให้ตกล่วงไป
๒. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้แล้ว
๓. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
๔. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเท็จ
๕. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพุดส่อเสียด
๖. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพุดคำหยาบ
๗. เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. ความไม่คิดเพ่งเล็งเขาในแง่ร้ายหรืออยากได้ของเขา
๙. ความไม่คิดปองร้ายเขา
๑๐. ความเห็นชอบ
กุศลกรรมบถหรือพฤติกรรมที่ดี ๑๐ อย่างเหล่านี้ บางสิ่งบางอย่าง มารดาบิดาอาจทำและจดจำไว้แล้วก็ได้ บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้ทำไว้เลยก็ได้ กรณีนี้เองที่เป็นการถ่ายทอดเป็นมรดกตกไปถึงลูก ๆ หลาน ๆ ในเมื่อทำให้เขาได้เกิดมา
ในสุตตันตปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๑ เล่ม ๖ ในจูฬกัมมวิภังคสูตร ข้อ๕๘๑ ความว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน, เป็นทายาทแห่งกรรม, มีกรรมเป็นกำเนิด, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย, กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ฯลฯ
อธิบายความตามหลัก ๖ หลักนี้
๑. สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน
คือ ลูกได้วิบากกรรม(ผลของกรรมทั้งดีและชั่ว)ทั้งดีและชั่วเป็นทุนจากแม่ พ่อก่อน ต่อมาลูกก็นำทุนมาทำเป็นกรรมของตน ทั้งดีและชั่ว
๒. เป็นทายาทแห่งกรรม
ระยะแรกเกิดก็รับมรดก คือ ผลกรรม ทั้งดีและชั่วจากแม่พ่อ เมื่อไปทำกรรมใหม่ทั้งดีและชั่ว ก็ได้รับผลใหม่ที่ทำนั้น
๓. มีกรรมเป็นกำเนิด
ที่ได้ถือกำเนิดมาจากครรภ์ของแม่นั้น ก็เพราะแม่พ่อร่วมกันทำกรรม (มีเพศสัมพันธ์) ลูกก็ถือกำเนิดมาจากกรรมนั้น
๔. มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
จิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ หรืออุปนิสัย (ไม่ใช่ร่างกาย) ของแม่พ่อเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด ซึ่งมีอยู่ ๑๐ เผ่าพันธุ์ คือ (๑) คนสัตว์นรก (๒) คนเปรต (๓) คนเดียรัจฉาน (๔) คนอสุรกาย (๕) คนอมนุษย์ (๖) คนมาร (๗) คนมนุษย์ (๘) คนเทวดา (๙) คนพระพรหม และ (๑๐) คนเผ่าพันธุ์พระอริยบุคคลระดับต้น ๆ เมื่อแม่พ่อเป็นคนเผ่าพันธุ์ใด ลูกเกิดมาก็เป็นเผ่าพันธุ์นั้นตาม
๕. มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
หมายถึง การพึ่งพาอาศัยชนิดที่ชี้เป็นชี้ตายทีเดียว เช่น กิจการจักสำเร็จหรือไม่สำเร็จตามที่ตนปรารถนานั้น มีผู้ช่วยเหลือหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญ คือ กรรมดี กรรมชั่วของตนเองนำพาให้สำเร็จหรือไม่สำเร็จ
๖. กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้
- อกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว ๑๐ อย่าง มีเจตนาทำปาณาติบาตเป็นอาจิณ เป็นต้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นคนสัตว์นรก เป็นคนเปรต ฯลฯ เป็นคนมาร
- กุศลกรรมหรือกรรมดี ๑๐ อย่างมีเจตนางดเว้นจากการทำปาณาติบาต เป็นต้น เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นมนุษย์ ผู้มีจิตใจสูง เป็นเทวดา ผู้มีหูทิพย์ตาทิพย์
- กุศลกรรมระบบสมถกัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นพระพรหม ผู้มีจิตใจประเสริฐ
- อัพยากตกรรม คือ กรรมไม่ดีและไม่ชั่ว หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานสายสัมมาปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ให้ผลแก่ชีวิต คือ จำแนกจิตใจ อารมณ์ ทัศนคติ ปัญญา ให้สัตว์หรือคนเช่นนี้เป็นพระอริยบุคคล เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
สัตว์เกิดในครรภ์ เช่น คน เป็นต้น มีกุศลกรรมฝ่ายดี หรืออกุศลกรรมฝ่ายชั่วของตน คือ มารดาบิดาก่อน เมื่อมารดาบิดามีเพศสัมพันธ์กัน น้ำอสุจิที่มาผสมกับไข่ในครรภ์ก่อให้คนปฏิสนธิและปฏิสนธิด้วยการประมวลกรรมหรือวิบากกรรม ที่เป็นกรรมดีหรือเป็นกรรมชั่วของมารดาบิดานั้นมาให้ปฏิสนธิหรือให้เกิดเป็นตัวตนใหม่ คือ ลูก จากนั้นต่อไปก็จึงเป็นว่า สัตว์ทั้งหลาย (ลูก ๆ ) มีกรรมดีและชั่วเป็นของตน (เพราะเป็นมรดกตกทอดมาจากมารดาบิดา) พฤติกรรมหรือการกระทำของลูก ๆ ต่อ ๆ ไปก็ย่อมเป็นเหมือน ๆ กันกับพฤติกรรมของมารดาบิดา แต่อาจมีลักษณะเด่นเป็นบางอย่าง หรือมีลักษณะด้อยเป็นบางอย่าง ก็แล้วแต่กรณีหรือแล้วแต่เหตุปัจจัยมาสนับสนุนหรือมาลิดรอนให้อะไรเด่น-ด้อย ดูตัวอย่าง แมว พฤติกรรมของลูกแมวก็ย่อมไม่ต่างจากพฤติกรรมของแม่และพ่อแมวเท่าไรนัก ก็เพราะมีกรรมเป็นของตน (กรรมของตน คือ ของแม่แมวและกรรมของตน คือ ของลูกแมว เป็นต้น)
สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม (รับมรดกของกรรมดีและชั่ว จากมารดาบิดามาเป็นต้นทุนก่อน)
ทายาท ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามไว้ว่า “ ผู้สืบสันดาน ผู้สืบสกุล” ขยายความว่า ชีวิตของลูก ๆ ทั้งหมดทั้งร่างกาย จิตใจ ทัศนคติไม่ว่าคน สัตว์เป็ผลกรรมดีและชั่วของมารดาบิดาถ่ายทอดเป็นทุนมาให้ทั้งสิ้น (อ่านดูตัวอย่างการรับมรดกกรรมชั่ว จากมารดา(ตามภาษาคนหรือพระสูตร) ในธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑ ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๑/๒๕๒๖ หน้า ๖๔ เรื่อง ความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี)