วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี

หมู่เกาะแห่งศรัทธา….บาหลี
บุญทัน พาหา... เรื่อง/ภาพ

หากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวสักแห่งหนึ่งซึ่งเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนทั่วโลกนับล้านๆ ที่มีพื้นฐานและมีที่มาแตกต่างกันหนึ่งในนั้นผมกล้าฟันธงว่าคือ...บาหลี
วิกรม กรมดิษฐ์ นักธุรกิจที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออมตะกล่าวไว้ว่า “Seeing is Believing” การพบเห็นสร้างความน่าเชื่อถือ ความหมายโดยนัยคือเรื่องบอกเล่ามากมายที่ได้รับรู้หาได้สร้างความตระหนักและลึกซึ้งได้เท่ากับเรื่องราวที่ได้พบเห็นมาด้วยตาตนเอง ชื่อเสียงของเกาะบาหลีที่ใครๆ ต่างพากันพูดถึงแต่หากไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองผมคงไม่มีวันเที่ยวประชาสัมพันธ์บอกใครต่อใครได้ แม้จะมีเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 2 วัน กับการตระเวนไปไม่ทันได้สัมผัสลึกซึ้งอะไรแต่จิตใจกลับหลงใหลในบาหลีเสียเต็มประดา เปรียบปานอิเหนาหลงรักบุษบาเหมือนซมพลาหลงรักนางลำหับวรรณกรรมที่เลื่องชื่อของหมู่เกาะแห่งท้องทะเลใต้
บาหลี...ที่มา?
บาหลีเป็นเพียงหมู่เกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา เกาะที่มีความสำคัญมากที่สุดของอินโดนีเซียเพราะเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง จาการ์ต้า (Jakarta) อดีตในยุคล่าอาณานิคมหมู่เกาะแห่งอินโดนีเซียได้รับการขนานนามจากชนชาตินักล่าว่าหมู่เกาะอินเดียตะวันออก มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเส้นทางเชื่อมการค้าทางทะเลระหว่างตะวันออกไกลคือจีนและญี่ปุ่นกับประเทศตะวันตกในเส้นทางเดินเรือสมัยก่อน อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศจำพวกพริกไทย กระวาน กานพรู ฯลฯ ที่สำคัญของโลกในแถบหมู่เกาะโมลุกะ (Molucca) และสุลาเวสี (Sulawesi) ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งยวดของชาติตะวันตก คุณสมบัติที่พร้อมสรรพสำหรับการเป็นเมืองขึ้น หมู่เกาะอินโดนีเซียจึงมีหน้าประวัติศาสตร์เคยถูกยึดครองโดยชนชาตินักล่าอาณานิคมหลายชาติมาอย่างยาวนาน หลังได้รับเอกราชจากดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2492 หลังจากที่คาราคาซังยืดเยื้อมานานเพราะดัตช์หวงแหนดินแดนแห่งนี้มาก อินโดนีเซียก็กลายเป็นประเทศเอกราชใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเพราะเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกกว่า 18,000 เกาะ เรียงรายกระจายอยู่ในน่านน้ำของสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก คาบเกี่ยวอยู่ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้เพราะมีหมู่เกาะทอดตัวยาวไกลจากทวีปเอเชียไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย
ปัจจุบันเกาะบาหลีมีฐานะเป็นจังหวัดของหนึ่งอินโดนีเซียมีประชากรสามล้านกว่าคน มีพื้นที่ประมาณ 5,620 ตารางกิโลเมตร มีความยาวจากเหนือจรดใต้ 90 กิโลเมตร ตะวันออกไปตะวันตก 140 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะทางตอนกลางของประเทศในกลุ่มหมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบาหลีมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายจิงโจ้กำลังกระโดด ติ่งที่ยื่นมาตรงส่วนขาของจิงโจ้คือที่ตั้งของเมืองหลวงเดนพาซ่าร์ (Denpasar) แม้จะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ทว่ามีความหลากหลายทางธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือพื้นที่ทางตอนกลางเป็นภูเขาไฟสูงเสียดสายหมอก พื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างแห้งแล้งเขตตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่การเกษตรนาขั้นบันไดที่เรียกกันว่า ซะวาห์ (Sawah) ในด้านเศรษฐกิจบาหลีนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซียทั้งมวล ด้วยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกสร้างรายได้ให้ประเทศปีหนึ่งๆ มากมายถึงหนึ่งในสามของรายได้มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ที่รีสอร์ท Kind Villa Bintang อันเป็นที่พักมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายเดินทางมาจากทุกทวีปทั่วโลก นักท่องเที่ยวจากอเมริกาบินต่อมาจากเกาะฮาวายเพียงใกล้ๆ ก็ถึงบาหลี นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียพบเห็นมากที่สุดที่นี่เพราะบาหลีเป็นเสมือนเพื่อนบ้านของเขา ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรปพบว่าส่วนใหญ่มาจากฮอลแลนด์ดินแดนที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียมาก่อน นักท่องเที่ยวทั้งหลายย้ำชัดถึงจุดขายของบาหลีที่แตกต่างไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ คือ ด้านวัฒนธรรม แต่กระนั้นในด้านธรรมชาติ ทั้งชายหาด อากาศ ป่าไม้ ภูเขา เราต่างเห็นพ้องกันว่าบาหลีมีดีไม่เป็นรองใคร สมแล้วกับสมญานามมากมายที่เธอได้รับ
บาหลี...ดินแดนแห่งเทพเจ้า
บาหลี...อัญมณีแห่งเอเชีย
บาหลี...สวรรค์บนดิน
บาหลี...ที่เป็น?
อารยธรรมศิวิไลซ์ของโลกยุคใหม่ซึ่งไร้พรหมแดนหรือที่เรียกกันว่า โลกาภิวัตน์ ได้ทำลายวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของประเทศหรือชุมชนน้อยใหญ่ทั่วโลกมามากมายนักต่อนัก ทุกอย่างดูจะก้าวย่างไปในทิศทางเดียวกันผิดกันตรงที่ช้าบ้างเร็วบ้าง สิ่งที่นักท่องเที่ยวได้เห็นกลับเป็นเพียงวิหารที่ว่างเปล่าหรือเพียงร่องรอยกับกลิ่นอายที่แตกต่าง เป็นกระแสที่ยากจะต้านฝืน แต่ที่บาหลีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กระแสที่ทรงพลังอันเชี่ยวกราดได้ไหลผ่านไปราวกับไร้แรงต้านแต่บาหลีก็ยังคงยืนกรานตระหง่านอยู่ได้ดุจไม้ใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุที่พัดโหมกระหน่ำ เป็นเช่นนี้มานานหลายชั่วอายุคนนานนับพันปีมาแล้ว
วัดหรือศาสนสถานของฮินดูซึ่งมีอยู่มากมายกว่า 200 วัด ในบาหลีกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในการมาเยือนบาหลี วัดที่นี่สื่อให้เห็นถึงความยึดมั่นศรัทธาในศาสนาผนวกกับความเชื่อของท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัด ชาวบาหลีได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ที่แพร่ขยายมาจากประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีก่อน ซุ้มประตูทางเข้าวัดสื่อสัญญาณถึงเทพเจ้าที่ชาวบาหลีเคารพคือพระศิวะ ชาวบาหลีเชื่อว่าพระศิวะคือเทพผู้สร้างบาหลีขึ้นมาโดยแบ่งภาคลงมาเกิดเป็นภูเขาไฟสองลูกซึ่งตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันทางตอนเหนือของเกาะและมีความสูงเป็นอันดับหนึ่งและสองในเกาะบาหลี คือ ภูเขาไฟ กุงนุงอากุง (Gunung Agung) กับกุงนุงบาตู (Gunung Batur) ทั้งสองเป็นภูเขาไฟที่ไม่หลับใหลยังคงคุกรุ่นอยู่ ชาวบาหลีเคารพบูชาเสมือนเป็นภูเขาพ่อภูเขาแม่ที่คอยปกป้องคุ้มครองลูกๆ ด้วยเกรงว่าหากไม่เคารพบูชาหรือหากกระทำในสิ่งที่ไม่ดีก็อาจทรงพิโรธนำภัยพิบัติคือพ่นเถ้าถ่านลาวามาทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ สื่อสัญลักษณ์แห่งความเชื่อความศรัทธาในภูเขาไฟของชาวบาหลีสังเกตได้จากซุ้มประตูทางเข้าวัดหรือศาสนสถาน ซุ้มเบื้องขวาที่สูงกว่าแทนภูเขาไฟกุงนุงอากุง ส่วนเบื้องซ้ายแทนภูเขาไฟกุงนุงบาตู
ภายในวัดจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้และส่วนภายในเป็นส่วนเฉพาะของพราหมณ์ที่เข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ระดับของพราหมณ์ในบาหลีแบ่งได้สองระดับคือ ปะดันดา กับ ปะมังกู พราหมณ์ปะดันดาถือเป็นพราหมณ์ชั้นสูงสามารถเสกน้ำมนต์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ส่วนพราหมณ์ปะมังกูเป็นพราหมณ์ในระดับรองลงมาทำหน้าที่เพียงนำสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆ
ชาวฮินดูในบาหลีไม่ได้มีการแบ่งชั้นวรรณะ (Caste) เหมือนกับประเทศอินเดีย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายในวัดตลอดถึงดำเนินชีวิตตามปกติจึงไม่มีให้เห็นเช่นเดียวกับในประเทศไทยที่วัด Pura Tirta Empul หรือวัดน้ำพุศักดิ์สิทธิ์เราเห็นชาวฮินดูในบาหลีมาทำพิธีไหว้พระและอาบน้ำพุร้อนกันตลอดทั้งวันโดยไม่ยี่หระสนใจสายตาของนักท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคู่ที่จับจ้องมองด้วยความสนใจ
ในเส้นทางมาสู่วัดสำคัญๆ เราได้พบเห็นกับภาพที่น่าอัศจรรย์เมื่อชาวบ้านหญิงชายเด็กและผู้ใหญ่แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเดินเทินดอกไม้เครื่องเซ่นไหว้บูชาไว้เหนือศีรษะเดินทางเป็นแถวแนวลดหลั่นตามไหล่เขามุ่งหน้าไปยังวัดที่เขานับถือเพื่อประกอบพิธีกรรม ชาวฮินดูในบาหลียังคงยึดมั่นในศาสนารักษาและสืบทอดประเพณีที่ว่านี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับพันพันปีไม่มีเปลี่ยนแปลง มีวัดที่สวยงามมากมายกระจายอยู่ทั่วเกาะบาหลี สอบถามจากเพื่อนๆ และนักท่องเที่ยวหลายๆ คนต่างเห็นตรงกันว่าวิถีชีวิตเฉกเช่นนี้หละที่สร้างความต่างเป็นสีสันและเสน่ห์ที่ตราตรึงเมื่อนึกถึงบาลี
ยังมีอีกหลากหลายเกร็ดความเชื่อหลากหลายวิถีที่บาหลีได้โปรยเสน่ห์ให้คนแปลกหน้าหลงใหล เช่น ในเส้นทางที่เราท่องไปได้พบเห็นรูปเคารพเป็นเทพเจ้าเด็กๆ มากมาย เป็นงานประติมากรรมลอยตัวใหญ่บ้างเล็กบ้าง นั้นเป็นอีกความเชื่อของชาวบาหลีที่มีต่อเด็กเกิดใหม่ ชาวบาหลีเชื่อว่าเด็กเป็นการกลับชาติมาเกิดของบรรพบุรุษ จึงมีพิธีกรรมและข้อห้ามมากมายโยงใยไปถึงความเชื่อดังกล่าว เช่น ภายใน 105 วัน เท้าของเด็กเกิดใหม่จะต้องไม่สัมผัสกับผิวดิน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุไม่ดีขึ้นกับเด็ก การตะไบฟันให้กับเด็กทุกคนเมื่อโตขึ้นมาเพื่อลบฟันเขี้ยวออกไปเพราะชาวบาหลีเชื่อว่าฟันเขี้ยวหมายถึงวิญญาณสัตว์ร้ายที่อยู่ในตัวเด็ก รวมถึงประเพณีบุญวันเกิดที่มีการทำธงทิวริ้วต้นไผ่ทั้งลำประดับประดาหน้าบ้านสวยงามเป็นแถวแนวเก่าใหม่สลอนอยู่สองข้างทาง
ในด้านธรรมชาติบาหลีก็มีจุดดึงดูดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นาขั้นบันไดเป็นจุดขายที่ใครได้ไปเยือนก็กล่าวขวัญถึงความงดงามเขียวขจีของนาแปลงน้อยที่ลดหลั่นลงมาตามไหล่เขา เราเห็นการลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนา ชาวบาหลีฟัดข้าวทันทีที่เกี่ยวเสร็จด้วยแรงมือโดยไม่รอตากให้แห้ง บาหลีมีหาดทรายขาวเรียงรายอยู่รอบเกาะ ทะเลกับหาดทรายในเขต Tropical เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากเมืองหนาวได้ดีเสมอ ธรรมชาติของผืนป่าและขุนเขาบาหลีก็มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นผลมาจากอิทธิพลของภูเขาไฟมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์แบบขึ้นในบาหลีที่เห็นเด่นชัดคือ ธรรมชาติบริเวณหมู่บ้านคินตามณี (Kintamani) และทะเลสาบกุงนุงบาตูที่เกิดจากการยุบตัวของการระเบิดของภูเขาไฟกุงนุงบาตู เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดแวะพักชมวิวทิวทัศน์และสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นที่สำคัญของผู้มาเยือน
บาหลี...ที่ไป?
“คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ” นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ที่ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมอยู่ในอินโดนีเซียและบาหลีได้เสนอแนวคิด “วิวัฒน์เวียนวน” (Agricultural Innovation) ซึ่งเป็นทฤษฎีของระบบภาคเกษตรมาอธิบายแบบแผนทางวัฒนธรรมในบาหลีว่า... “เมื่อวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งวิวัฒนาการมาจนได้รูปแบบที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปหรือเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่อื่นๆ ได้อีก หากเพียงแต่ทำให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นเท่านั้น” แนวคิดนี้ได้สะท้อนความเป็นบาหลีออกมาได้อย่างชัดเจนว่า วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบาหลีเป็นเช่นนี้สืบต่อเนื่องกันมายาวนานจนเป็นรูปแบบ การพัฒนาได้ชะงักงันลงคล้ายกับการตกผลึกทางวัฒนธรรมที่ฝังรากแน่น
ในหน้าประวัติศาสตร์บาหลีเคยถูกปกครองโดยดัตช์มายาวนานเกือบศตวรรษ ถูกครอบครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอีกหลายบททดสอบที่บาหลีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
และเชื่อมั่นได้ว่าในวันข้างหน้าไม่ว่าจะอีกสักกี่ร้อยปีกี่พันปี... เมล็ดพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ยังคงแสดงวิถีแห่งบาหลีให้โลกในวันหน้าได้ประจักษ์ ผู้คนที่นี่ยังคงรักที่จะอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ อยู่กับพิธีกรรมที่มุ่งรักษาสมดุลทางธรรมชาติระหว่างความดีความชั่วอยู่ต่อไป
วันข้างหน้าของบาหลีก็คงก้าวย่างไปเฉกเช่นนี้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น