วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

เยี่ยมเยือนชนเผ่าที่ลาวใต้

บุญทัน พาหา เรื่อง

ทันทีที่ได้รับคำชักชวนจากเพื่อนพ้องน้องพี่นักศึกษาดีกรีปริญญาเอกสาขายุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนารุ่นที่ 7 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่รวมตัวกันจัดโปรแกรมทัศนศึกษาและลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในลาวใต้ ผมรีบตกปากรับคำโดยไม่ลังเล...
การเดินทางครั้งนี้เราได้อาจารย์ใหญ่ คืออธิการบดี รศ.ดร. อัจฉรา ภาณุรัตน์ ที่ทำหน้าที่สารพัดอย่าง เป็นทั้งไกด์กิตติมศักดิ์ ครูผู้ควบคุมและวิทยากรภาคสนามพร้อมสรรพ ใน Trip นี้ เราต่างได้ตระหนักถึงคำว่าพหูสูตแห่งสหศาสตร์จากการชี้แนะบอกเล่าของท่าน การแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นในหมู่นักศึกษาเป็นไปในรูปของการ “Focus Group” แบบเข้มข้นตลอดเส้นทาง ความรู้ความเห็นจึงไหลหลั่งพรั่งพรูมาดุจสายน้ำโขงที่ไหลผ่านแก่งหินในน้ำตกหลี่ผีและสีทันดอน (สี่พันดอน) มีทั้งพลิ้วผ่านหนักแน่นและลุ่มลึก บางความคิดความเห็นแตกกระสานซ่านเซ็นออกนอกกรอบไปบ้างก็ได้อาจารย์ใหญ่คอยชี้แนะและตะล่อมกลับมาสู่ครรลอง
การเดินทางใน Trip นี้จึงเน้นไปที่ภาควิชาการที่ต้องบันทึก ส่วนภาคบันเทิงเป็นเพียงความสุนทรีจากวิถีชีวิตผู้คนและแง่งามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์เอาไว้ให้ลาว
“อ้าย ๆ ตะกร้าหวายบ่จ้า”
เสียงเรียกร้องเชิญชวนให้ซื้อตะกร้าหวายของแม่ค้าริมฟุตบาทขณะคณะยืนรอพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของลาวตรงข้ามพรมแดนด่านช่องเม็กอำเภอพิบูลมังสาหาร จ. อุบลราชธานี ที่มาของเสียงเป็นแม่ค้าร่างเล็กแทรกตัวอยู่ตรงกลางแผงขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหวายและไม้ไผ่ซึ่งมีหลากหลายขนาดและรูปแบบ ทั้งเตียงนอน เก้าอี้ หมอนหนุนนอน ถัดไปเป็นแผงขายพันธ์กล้วยไม้ป่าและผ้าพื้นเมือง ยังมีแผงขายซีดีหนัง เพลงไทย และเพลงสากลใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ของแท้ผสมปนเปไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนหลายรายการ ด่านตรงพรหมแดนก็เหมือนประตูหรือหน้าต่างที่บอกให้คนข้างนอกรู้เห็นความเป็นไปของคนข้างในบ้านได้บ้าง ร้านค้าหรือสินค้าที่วางขายก็สะท้อนได้ถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนภายใน
ครั้งหนึ่งผู้รู้เคยบอกผมว่า ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเขตร้อนคือหวายกับเถาวัลย์ เสียงร้องเรียกของแม่ค้าตะกร้าหวายเมื่อครู่ เร่งให้หลายคนอยากรู้ว่าผืนป่าที่ลาวใต้จะสมบูรณ์สักเพียงใด
เพียงแรกสัมผัสผมก็เริ่มเห็นความแตกต่าง!!
ทิวทัศน์สองข้างทางเมื่อมองจากช่องหน้าต่างรถบัสปรับอากาศทำในเกาหลี ก็เห็นบ้านเรือนผู้คน ทุ่งนาสลับกับทิวป่า มีฉากหลังเป็นเทือกเขาสีเทาลดหลั่นเป็นชั้นๆ ไปบรรจบกับเส้นขอบฟ้าสีเงินยวงด้านทิศตะวันตก แรกนั่งเราต้องตั้งสติกับระบบการจราจรที่เดินรถกลับด้านกับฝั่งไทย กลัวว่ารถที่แล่นสวนมาจะพุ่งเข้าหาแต่ไม่นานนักก็เริ่มคุ้นชิน ฝนเมื่อบ่ายวันวานทิ้งร่องรอยของความชื้นฉ่ำเอาไว้ ละอองไอของสายหมอกยังจับกลุ่มลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือทิวเขาและราวไพรสองฟากฝั่งเส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไปราวกับจงใจมาต้อนรับอาคันตุกะใหม่
สถานที่และบรรยากาศแปลกใหม่เรียกร้องความสนใจได้มากเสมอ !!!
หลายคนเหลียวซ้ายแลขวาอย่างใคร่รู้ ลางคนเริ่มคุยกับความคิดตัวเอง ใช่หรือไม่ว่า ความรู้สึกของคนเราบางครั้งเห็นก็เหมือนกับไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินในยามที่ครุ่นคิดหรือจิตดิ่งลึกอยู่ในห้วงจินตนาการ เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างลอยผ่านหน้า วันเวลาก็เช่นกันแม้ชั่วโมงนาทีจะมีค่าเท่ากันแต่ในห้วงทุกข์กับสุขเวลาย่อมสั้นยาวไม่เท่ากัน ความรู้สึกของผมในวันนั้นกับการเดินทางบนถนนแคบๆ แต่ราบเรียบความยาว 44 กิโลเมตร จากชายแดนช่องเม็กในฝั่งไทยหรือด่านวังเตาในฝั่งลาวสู่เมืองปากเซช่างเป็นระยะทางที่สั้นเพียงไม่กี่อึดใจก็ถึง
“พวกเราดูข้างล่าง...เร็ว”
เสียงอื้ออึงดังขึ้นเมื่อรถบึ่งมาถึงสะพานยาวข้ามโขงมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ก่อนเข้าสู่เมืองปากเซ ผมตื่นขึ้นจากภวังค์ความคิด สายตาหลายคู่ส่ายหาสาเหตุตามต้นตอของเสียง ความยาวของสะพาน... ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำ...หรือสาเหตุใด? ต่างคนอาจคิดและเห็นต่างกันไปตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน
“ดูดี ๆ เรากำลังข้ามผ่านพญานาคไป” เสียงเดิมจินตนาการไว้รอท่า
อาจเป็นเพราะคดโค้งแห่งสายน้ำกับลำแสงสุดท้ายแห่งวันที่ตกมากระทบ กอปรกับน้ำที่ไหลเอื่อยเฉื่อย วันนั้นผมและสายตาหลายคู่แลเห็นแม่น้ำโขงเป็นพญานาคขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื้อยอย่างเชื่องช้าลับหายไปทางหุบเขานางนอนทางตอนใต้ (เรื่องราวของพญานาคกับลำน้ำโขงคงเป็นตำนานมีชีวิต มีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนบนสองฟากฝั่งเสมอมา)
เขานางนอนนั้นคือนางมะโรงตามตำนานส่วนเทือกเขาเบื้องซ้ายที่ทอดกายคู่ขนานกับลำน้ำโขงคือเท้าบาเจียง คู่รักที่ไม่สมหวังแห่งรัก เสียงวิทยากรจากกิจกรรม “Focus group” บนรถแว่วมาและคงดำเนินต่อไป เราได้ความรู้มากมายจากการผลัดเปลี่ยนกันมาอรรถาธิบายความของไกด์ดีกรีว่าที่ดอกเตอร์ทั้งหลาย คล้ายกับเป็นชุดวิชาเคลื่อนที่เป็น Study Tour อย่างแท้จริง กระแสความรู้ ความเห็นพรั่งพรูมาเป็นระลอกดุจสายน้ำ จนบางครั้งผมรู้สึกว่าครุถัง (คลังสมอง) ที่ผมมีอยู่และใช้บรรจุมันแคบและเล็กเกินกว่าจะรองรับไว้ได้หมด บางส่วนเสี้ยวของสายน้ำแห่งความรู้ที่ผมตักเก็บมาได้ในวันนั้นก็คือสิ่งที่อยู่ในมือท่าน ณ วันนี้
สะพานข้ามโขงแห่งใหม่นี้ให้ชื่อว่า สะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น สร้างขึ้นจากน้ำใจของชาวญี่ปุ่นที่แบ่งปันเงินเยนมาให้ ทำให้พี่น้องลาวตอนใต้กับไทยไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น เราแวะพักทานเที่ยงกันที่ภัตตาคารลอยน้ำเรือนแพคำฟอง ตั้งอยู่ตรงบริเวณเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ในเมืองปากเซ บริเวณอันเป็นที่มาของชื่อ “ปากเซ” เมืองเอกของแขวงหรือจังหวัดจำปาสัก (“จำปา” คือชื่อของดอกลั่นทมในภาษาลาว เป็นต้นไม้ประจำชาติของลาว ส่วนคำว่า “สัก” ก็คือการปักหรือปลูก กษัตริยในสมัยโบราณเชื่อว่าเมื่อได้นำเอาต้นกล้าของดอกจำปาไปสักหรือปักไว้ที่ใดหากต้นกล้านั้นเจริญงอกงามนั่นหมายความว่าสามารถสร้างเมืองตรงจุดนั้นได้) เมื่อแม่น้ำเซโดนไหลมารวมกับแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันออก “เซ” ในภาษาลาวหมายถึงสายน้ำใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น เซโดน เซกอง ส่วน “แซ” คือสายน้ำน้อย ๆ ที่ไหลลงสู่เซอีกทอดหนึ่ง ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งคราเข้าพักแรมที่เขื่อนสิรินธร สายน้ำสำคัญที่ถูกปิดกั้นเพื่อสร้างเขื่อนก็ชื่อ “เซโดน” เกิดจากแซหลายสายไหลมารวมกันก่อนจะมาเป็นเซโดน ห้องประชุมในอาคารสัมมนาที่นี่จึงมีทั้งชื่อ “แซน้อย” “แซใหญ่” การสื่อสารและความเข้าใจเรื่องภาษาของพี่น้องไทยและลาวแถบนี้แทบจะไม่ต้องตีความ เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายแห่งความยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรจำปาสักโบราณทันทีที่ข้ามสะพานมา
ฝรั่งเศสสร้างเมืองปากเซสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1905 ราวหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน เป้าหมายเพื่อต้องการให้เป็นเมืองศูนย์กลางในลาวใต้ ที่นี่จึงมีศูนย์ราชการมากมายหลายแห่ง เป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจเพราะเป็นหน้าด่านที่ส่งออกและนำเข้าสินค้าของลาวในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต (ไทย ลาว กัมพูชา) เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและการคมนาคมเพราะเป็นชุมทางของทั้งสายน้ำและถนน หากคิดจะท่องเที่ยวไปในลาวใต้ที่นี่คือจุดเริ่มต้น เป็นต้นทางเพื่อไปยัง อัตตะปือ เซกอง และสาละวัน เหตุนี้จึงมีโรงแรมเก่าใหม่มากมายสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากไทยที่หลั่งไหลเข้าไปมากขึ้นทุกปีๆ
เราเลยผ่านปากเซไปโดยมีเป้าหมายค้างแรมที่รีสอร์ทผาส้วม (บ้างเขียน “ซ่วม” ในภาษาลาวหมายถึงห้องโถง ส่วน “ตาด” หมายถึงน้ำตก บ้างจึงเรียกกันว่า ตาดผาส้วม นอกจากนี้ยังมี ตาดฟาน ตาดเยือง ส่วนตาดคอนก็คือคอนพะเพ็ง) ในบรรยากาศอิงแอบแนบชิดธรรมชาติ บ้านพักถูกออกแบบและสร้างไว้อย่างกลมกลืนซุกตัวอยู่ในผืนป่ารายล้อมด้วยธารน้ำไหลและสายน้ำตก ภายหลังทราบว่าแนวความคิดเรื่องการสร้างบ้านพักที่นี่ถูกพัฒนามาจากแบบบ้านของชนเผ่าในลาวใต้ บางบ้านเป็นบ้านบนต้นไม้คล้ายบ้านทาร์ซานมีเถาวัลย์เป็นบันไดให้ปีนป่าย บางบ้านยื่นล้ำไปสู่ธารน้ำตกรับละอองไอจากสายน้ำราวกับนอนฟังเสียงฝนตก เตียงนอนทำจากกระดานไม้แผ่นเดียวผืนใหญ่ พื้นห้องน้ำมีก้อนหินน้อยใหญ่ให้เหยียบย่ำผ่อนคลายประสาทสัมผัสปลายเท้า หลังคาเป็นแบบเปิดประทุนด้านบนเปิดโล่งโยงท่อต่อน้ำมาจากลำธาร มีเครื่องปั่นไฟใช้เองเป็นไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทุกอย่างสอดรับกันอย่างลงตัวสมบูรณ์แบบในบรรยากาศที่ย้อนยุคไปหลายปีพอให้ได้รำลึก
คุณวิมล กิจบำรุง เจ้าของรีสอร์ทคนไทยที่ไปบุกเบิกอุทยานผาซ่วมครั้งแรก เล่าถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านแผ่นปลิวที่ทำขึ้นมาสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะใจความว่า เมื่อทางการ สปป.ลาว อนุญาติให้เขาเข้ามาพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวเมื่อปีค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้ให้โจทย์มาข้อหนึ่งว่าโฉมหน้าใหม่ของผาส้วมจะต้องเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมของชนเผ่าควบคู่กันไป แต่ผาส้วม ณ เวลานั้นหาได้มีสภาพเช่นที่เห็นในวันนี้ไม่ ป่าเป็นป่าเสื่อมโทรม บนพื้นดินในพื้นน้ำไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลือ สัตว์น้ำ สัตว์ป่าถูกจับไปเป็นอาหารหมด ธารน้ำตกสกปรกรกตาด้วยขอนไม้ใหญ่ระเกะระกะ แก่งหินที่เบี่ยงบังทางน้ำ มิหนำซ้ำยังมีโรคร้ายและไข้ป่าชุกชุม
เมื่อเวลาผ่านไป… ดุจคนไข้ได้หมอดีรักษา ผาส้วมค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพพร้อมๆ ไปกับการก่อกำเนิดขึ้นมาของหมู่บ้านและพิพิธภัณฑ์ของชนเผ่า
ตัวน้ำตกผาส้วมซึ่งเป็นศูนย์กลางของรีสอร์ท มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเกือกม้า (Horse’s shoe) เมื่อธารน้ำทั้งสายไหลมาตกลงตรงหน้าผารูปเว้าโค้งทรงเกือกม้าส่งเสียงดังไปไกลหลายสิบเมตร ละอองความชื้นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จุดถ่ายรูปและชมวิวเป็นชะง่อนหินที่ยื่นออกไปเบื้องหน้าเสมอระดับผาน้ำตก ยังมีสะพานแขวนแบบชิงช้าซึ่งสร้างพาดผ่านโตรกธารหน้าผาน้ำตกเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เห็นวิวทิวทัศน์รอบทิศ ยามเดินผ่านไปยังอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นร้านอาหารจะแกว่งไกวไหวโคลงเคลงและให้ความรู้สึกตื่นเต้นราวกำลังลอดซุ้มอุโมงเพราะร่มเงาของเถาและใบของต้นใบละบาทที่ปกห่มอยู่ด้านบน (ต้นใบละบาทเป็นไม้เถาใบหนาใหญ่มีดอกสีม่วงคล้ายดอกชะบา) ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ให้สมญาผาส้วมว่าเป็นมินิไนแองการ่าแห่งเอเชีย เพราะหน้าตาและรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน หากแตกต่างก็คงเพียงแค่ขนาดและบรรยากาศที่รายล้อม
หมู่บ้านของชนเผ่า (เฮือนชนเผ่า) ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับอุทยานผาส้วม มีทางเดินเป็นซุงไม้ตัดขวางปูเชื่อมต่อถึงกัน สภาพบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้ถูกอนุรักษ์ไว้ใกล้เคียงของเก่ามากที่สุด รวมทั้งกิจกรรมที่จัดไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นวิถีชีวิตและความเป็นไปของผู้คนแต่ละชนเผ่าของลาวใต้
จุดดึงดูดสายตาทันทีที่ก้าวเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านชนเผ่าคือ หอสังเกตการณ์อเนกประสงค์ของเผ่าละแว ลักษณะเป็นเรือนเสาเดี่ยวตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน เฉพาะเสามีความสูงราว 10 เมตร สร้างไว้เพื่อเฝ้าระวังเภทภัยต่าง ๆ เช่น จากสัตว์ร้าย ศัตรูและเอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน นอกจากนั้นยังมีไว้ให้หนุ่มสาวเผ่าละแวขึ้นไปพร่ำพรอดทำความรู้จักกันให้มากขึ้น โดยไม่มีการล่วงล้ำประเพณีอันดีงามเพราะถือว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ก่อนลงเอยด้วยการแต่งงาน
“กลิ้งครกจกสาว” เป็นประเพณีมีชื่อเสียงของชนเผ่าละแว ตัวเรือนมีใต้ถุนยกพื้นไม่สูงมากนักแบบบ้านสมัยโบราณ ห้องนอนของหญิงสาวจะเปิดช่องเล็กๆ ไว้ให้ชายหนุ่มมายืนพูดคุยมอบของขวัญให้แก่กัน สัมผัสมือไม้กันได้ “จก” หมายถึง จับหรือสัมผัส ส่วน“ครก” ก็คือครกตำข้าวที่ผู้บ่าวใช้เหยียบปีนขึ้นไปคุยกับสาว
เผ่ากะตูเป็นอีกเผ่าหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแต่งกายที่เสื้อผ้าและเครื่องใช้ทำมาจากปอกระเจาและวัสดุอื่นๆ จากธรรมชาติ ชนเผ่านี้ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนแตกต่างจากเผ่าอื่นและยังมีศิลปะทางด้านการแสดงและดนตรีที่โดดเด่นในแบบฉบับของตนเอง
เผ่าแงะ ก็เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านชนเผ่าของอุทยานผาส้วม ดั้งเดิมของชนเผ่านี้มาจากเมืองกะลืมแขวงเซกอง พวกนี้เรียกตัวเองว่าเกรียง ข้อสังเกตคือจะมีนามสกุลที่มีคำว่า เกรียง อยู่ด้วย เช่น ชีพรูจะเกรียง เป็นต้น แต่จากการรวมชนเผ่าของทางราชการลาว ชนกลุ่มนี้จึงถูกรวมอยู่ในนาม เผ่าแงะ ในเวลาต่อมา
บริเวณลานกลางหมู่บ้านชนเผ่าเราได้เห็นหลักฆ่าควายของชนเผ่าแงะ เป็นเสาสูงประมาณ 2 เมตร ใช้สำหรับล่ามควายไว้ฆ่าในงานบุญ เราได้รู้ต่อมาว่าหากจะนับคำนวณความเก่าแก่ของชุมชนให้นับจากจำนวนหัวควายที่แขวนไว้ที่สมาคมหรือที่ทำการหมู่บ้าน เพราะปกติแล้วในประเพณีงานบุญของทุกปีชนเผ่าแงะจะมีการฆ่าควายกันปีละครั้ง ๆ ละหนึ่งตัวตามขนาดของชุมชนและเก็บหัวควายเอาไว้
เผ่าต่อมาคือเผ่ากะตาง มีความน่าสนใจและโดดเด่นมากในการแต่งกายโดยเฉพาะผู้หญิงที่ห้อยเครื่องประดับเป็นลูกปัดหินหลากสีมาห้อยคอและเจาะหูร้อยด้วยงาช้าง ชนเผ่านี้ดั้งเดิมมาจากเมืองตาโอยแขวงสาละวัน ในยามว่างชายหญิงจะนั่งล้อมวงพูดคุยกันและสูบกอก (คล้ายบ้องกัญชาแต่เป็นการสูบยาเส้นผสมน้ำอ้อย)
เผ่าอาลักและเผ่าตะเรียง เป็นชนเผ่าที่มีความสามารถในด้านการถักทอผ้าฝ้ายที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ หญิงชายเผ่าอาลักนิยมสักลวดลายตามหน้าตาและตามตัว ส่วนเผ่าตะเรียงปลูกสร้างบ้านเรือนได้โดดเด่นโดยเฉพาะส่วนหลังคาที่โค้งมนมีการประดับประดาด้วยเขาควายตรงปลายจั่วด้านบนสุด
นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนของชนเผ่ายะเหินเผ่าโอยที่จัดแสดงไว้ในอุทยานผาส้วม ชนเผ่าเหล่านี้ต่างมีวิถีชิวิตและประเพณีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปจากชนเผ่าลาวลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของลาวและลาวสูงชนเผ่าบนดอยสูงของลาว ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งสร้างเป็นโรงเรือนแบบโบราณหลังใหญ่กลางบ้านได้เก็บอนุรักษ์ข้าวของเครื่องใช้ของชนทุกเผ่าในลาวใต้ไว้หลายรายการ เช่น กะลอมเก็บเสื้อผ้าและพืชผลการเกษตร ซึ่งมีรูปลักษณ์ ขนาดและความปราณีตของชิ้นงานแตกต่างกัน บางชิ้นมีอายุนับร้อยๆ ปี ยังมีไหโบราณมากมายที่ชนเผ่าในลาวซื้อมาจากชาวจีนและเผ่าจามในเวียดนามเพื่อนำมาใช้เป็นของกำนัลและสินสอดของหมั้น
“วิถีของชีวิตที่แตกต่างและหลายหลายของชนเผ่าในลาวใต้เปรียบเสมือนการเยี่ยมชมทุ่งดอกไม้ที่หลากสีย่อมให้คุณค่าและอารมณ์ความรู้สึกที่สมบูรณ์แตกต่างจากการชมแปลงดอกไม้ที่มีสายพันธ์เดียว เห็นไหม... แม้แมลงภู่ผึ้งที่มาดอมดมก็แตกต่างหลากหลายสายพันธ์กว่า ทุกสรรพชีวิตต่างเกื้อกูลและพึ่งพาอาสาอาศัยเติมเต็มให้กันสร้างความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์” คือคำที่อาจารย์ใหญ่ของเราชี้แนะและบรรยายย้ำเมื่อทุกคนพร้อมกันบนรถขากลับออกมาจากอุทยาน เป็นประโยคสะกิดใจที่ทำให้ผมได้ตระหนักซึ้งถึงอีกหนึ่งแง่งามของลาวใต้
เยือนลาวคราวนี้เราไม่ได้ไปถึงหลี่ผีและคอนพะเพ็งด้วยเงื่อนไขเรื่องเวลา แต่จุดสุดท้ายของการลงพื้นที่ในTripนี้มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสำหรับอาคันตุกะหน้าใหม่นั่นคือ ปราสาทวัดภู ปราสาทหินศิลปะสมัยขอม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองจำปาสัก เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่สองของลาวต่อจากเมืองหลวงพระบาง การเยือนปราสาทวัดภู ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงอดีตความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมสมัยโบราณกับเส้นทางราชมรรคาสายสอง ที่มุ่งหน้าจากนครวัดของกัมพูชามาทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่อาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือโคตรบอง ที่ตั้งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ในปัจจุบันก็คือบริเวณพระธาตุพนม
ในเส้นทางกลับคืนสู่เมืองปากเซ เราได้ผ่านย่าน Green Zone ของลาวใต้ซึ่งอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ด้วยไร่เงาะ ทุเรียน ไร่ชาไร่กาแฟในเขตส่งเสริมการเกษตรของแขวงจำปาสัก ในเส้นทางยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายสายให้แวะชม อาทิ น้ำตกตาดเยือง ที่เราสามารถเข้าถึงสัมผัสกับสายน้ำและสูดกลิ่นละอองไอได้อย่างใกล้ชิด น้ำตกตาดฟาน เรามองเห็นได้ในระยะไกล เป็นน้ำตกยาวคู่ขนานสองสายดิ่งทิ้งตัวพลิ้วไหวดุจแพรไหมพาดมาจากผาลงสู่หุบเหวของผืนป่าเบื้องล่าง ตาดฟานได้ชื่อว่าเป็นน้ำตกที่มีความสูงที่สุดในลาว บ้างว่าอาจสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วัดความสูงได้ราว 120 เมตร จากหน้าผาลงมาถึงแอ่งน้ำด้านล่าง
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีเอกร่วมสมัยของไทย ได้ร่ายบทกลอนพรรณนาความงามของน้ำตกตาดฟานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า...
“ควันฟองอันฟ่องฟู ขึ้นฟอกฟ้าหุบผาไพร
อาบอวลละอองไอ กำจายชื่นมาฉ่ำภู
น้ำพุ่งกระโจนผา เพียงผาไหวพะพรายพรู
พลั่งพลั่งประดังดู ดั่งดงดึกดำบรรพ์
ที่ฟ้าเป็นฟ้าหยาด แลดินผาดขึ้นเพียงแผน
ควั่งคว้างอยู่กลางแกน แห่งกาลจักรเคลื่อนจักรวาล
เสนาะสนั่นคะครั่นครึก ลงลึกล้ำด่ำบาดาล
สายขวัญแห่งตาดฟาน ผูกฟ้าดินนิรันดร”

สินค้าในตลาดพื้นเมืองริมทางหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า มีผลิตผลจากป่าหลายอย่างมาวางขายอยู่ดาษดื่น กล้วยไม้ป่า หน่อไม้ แมลงชนิดต่างๆ รวมทั้งชากับกาแฟแปรรูปที่คั่วและบดตามแบบฉบับของเกษตรกรพื้นเมือง ผมไม่พลาดที่จะลิ้มลองรสชาติชาและกาแฟจากร้านกาแฟริมทางร้านหนึ่ง ซึ่งบนแผ่นไม้กระดานข้างฝาได้สาธยายสรรพคุณของกาแฟที่นี่ไว้ ความว่า...
“ดำดั่งปีศาจ ร้อนดั่งนรก หอมดั่งนางฟ้า รสชาติดั่งความรัก”
แม้ผมจะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้คอกาแฟสักเท่าใดนัก ยังไม่เคยเจอะเจอทั้งปีศาจและนางฟ้า อีกนรกก็ไม่เคยได้สัมผัส จะมีก็แต่ความรักตามวันวัย ก็ยังแยกไม่ได้ว่ารสชาติความหอมของกาแฟที่นี่กับความหอมหวานของรักแรกแตกต่างกันอย่างไร!!
“ชาล้นถ้วย” คือ นิยามอาการของผมในวันเดินทางกลับ สองวันที่ลาวใต้ผมตักตวงทุกสิ่งทุกอย่างมาเก็บไว้จนล้นปริ่มไม่สามารถเติมสิ่งใดลงไปได้อีก ทุกครุถังของคลังสมองเต็มเปี่ยมด้วยสรรพความรู้ อารมณ์ และความงามบริสุทธิ์ในรอยยิ้มของผู้คน กับวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายห้อมล้อมด้วยธรรมชาติสายน้ำตก ผืนป่า ฯลฯ
ผมได้ตระหนักว่า การเลือกทำตัวอย่างเรียบง่ายไม่ใคร่เป็นที่รู้จักของใครต่อใคร ไม่เห่อหลงไหลไปกับกระแสเหมือนลาวที่กำลังเป็นอยู่ในวันนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยลาวยังสามารถรักษาธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษให้ดำรงอยู่ได้ถึงลูกถึงหลาน ในขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลาย ๆ สังคมมัวแต่แข่งกันร่ำรวยแข่งกันก้าวไปข้างหน้า จนลืมไปว่าทางเดินในวันเก่ารากเหง้าของตนมาจากไหน ไม่แปลกที่ผู้คนของเขาจำนวนหนึ่งจึงเรียกร้องและโหยหามันเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่สังคมของเขาได้ละทิ้งไปแล้วอย่างถาวร
หรือประสบการณ์ชีวิตบางส่วนเสี้ยวในวันนี้จะทดแทนได้บ้างกับสิ่งที่เราเพรียกหามันอยู่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น