วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รอยไท...ในสิบสองปันนา

รอยไท...ในสิบสองปันนา
บุญทัน พาหา....เรื่อง


“เดินทางร้อยลี้ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่ม...”
ผมอ่านเจอสำนวนนี้ที่นักเดินทางไทยคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ มีความหมายโดยนัยว่าการได้ไปเห็นสถานที่ไม่คุ้นชิน เหตุการณ์ใหม่และผู้คนแปลกตาเป็นแรงจูงใจใฝ่รู้ดีกว่าการโลดแล่นไปตามตัวหนังสือที่มีผู้บันทึกไว้ ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม หลายเหตุการณ์ที่ไปประสบพบเห็นมาจะถูกเก็บใส่ไว้ในลิ้นชักของความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม และบ่อยครั้งเหมือนกันที่ส่วนเสี้ยวของความทรงจำนั้นถูกหยิบจับมาเป็นประเด็นการพูดคุยในหมู่มิตรหรือสนทนากับความคิดของตนเองในเรื่องที่สงสัยหรือเห็นต่างบางห้วงบางเวลาช้าบ้างเร็วบ้าง...
การเดินทางล่องเรือตามลำน้ำโขงจากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า (Ganlanpa) เมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันมา มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เลาะเลียบเกาะแก่งและโตรกผาตามแนวตะเข็บรอยต่อพรหมแดนระหว่างเมียนม่าร์และลาว จนลุถึงดินแดนสามเหลี่ยมทองคำจุดหมายปลายทางที่ท่าเรืออำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงรายใช้เวลายาวนานร่วมสิบสองชั่วโมง เป็นชั่วโมงการเดินทางทางน้ำที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของพวกเราหลายคน แต่ด้วยธรรมชาติได้รังสรรค์ความงามของวิถีแห่งสายน้ำไว้ให้ ผมและเพื่อนๆ จึงเพลิดเพลินกับการเดินทางอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย มีทั้งเวิ้งน้ำ โตรกธาร สันดอนทราย แก่งหิน วิถีชีวิตผู้คนในสายน้ำและสองฟากฝั่งเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างลำเรือเรียกร้องความสนใจ และตรึงความคิดผมไว้ให้อยู่กับมันนานหลายครู่ยามก่อนที่ภาพใหม่จะเข้ามาทดแทนสลับฉากอย่างนี้เรื่อยไปตลอดเส้นทาง
ระวางบรรทุกเรือโดยสารสัญชาติจีนเที่ยวนี้มีผู้โดยสารรวมทั้งลูกเรือเกือบ 100 ชีวิต ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นคนไทยในคณะของพวกเรา ความที่เป็นคนหมู่มากเราจึงเจรจาขอใช้เครื่องเสียงบนเรือเพื่อให้ไกด์ ผู้รู้ และนักวิชาการผู้เดินทางร่วมไปกับคณะได้บรรยายเติมเต็มข้อมูลในสิ่งที่พวกเราได้พบเห็นมาตลอดการเดินทางเยือนดินแดนสิบสองปันนาเมื่อ 2-3 วันที่ก่อน ทั้งทัศนะและความรู้จึงพรั่งพรูมาเหมือนสายน้ำสำหรับผู้สนใจให้รีบขวนขวายหาภาชนะตักใส่ กล้องถ่ายรูป เครื่องบันทึกเสียง กล้องวีดิโอ ให้นึกสงสารก็แต่ผู้โดยสารบางรายที่ต้องการพักผ่อน แต่เขาคงต้องทำใจเพราะไม่อาจอุทธรณ์ใดๆ ได้ในเมื่อได้ร่วมหัวจมท้ายลงเรือลำเดียวกันแล้ว
ผมย้อนนึกถึงวันเดินทางไป ในความรู้สึกคล้ายกับไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ หมู่คณะเราทยอยลงเรือหางยาว 5-6 ลำ ข้ามฟากที่ท่าเรืออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายหลังอาหารเช้า ข้ามไปยังแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว บนฝั่งด้านนั้นเราเจอนักท่องเที่ยวชาติตะวันตกประเภท Backpacker วัยหนุ่มสาวจำนวนมากกำลังรอผ่านการตรวจเช็คบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาว พวกเราเดินผ่านไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ที่ไกด์เตรียมไว้และออกเดินทางไปตามเส้นทางสาย R3A มุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ดินแดนสิบสองปันนา
เส้นทางสาย R3A เป็นถนนตัดใหม่ในความพยายามของจีนที่ต้องการเปิดประตูด้านทิศใต้สู่ประเทศในแหลมอินโดจีนเพื่อเป็นเส้นทางการค้าและสัญจรไปมาหาสู่กัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550 ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากด่านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายผ่านแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทาในลาวไปถึงชายแดนบ่อหานของจีนได้ภายใน 6-7 ชั่วโมง ระหว่างการเดินทางใน ลาว เราสวนทางกับขบวนรถบรรทุกสินค้าและรถเรลลี่ของนักท่องเที่ยวจากจีนอยู่เป็นระยะๆ ในรอบ 15 ปี มานี้จีนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองทั้งในด้านการค้า การผลิตและการบริโภคอย่างไร้ขีดจำกัดจึงสามารถแผ่รัศมีได้กว้างใหญ่ไพศาล เส้นทางสาย R3A ที่จีนลงทุนสร้างตัดผ่านประเทศลาวเป็นความพยายามหนึ่งของการเปิดพื้นที่ทางการค้าและการลงทุนของจีนที่แผ้วถางลงมาทางใต้ ภาพนั้นค่อยปรากฏแจ่มชัดขึ้นแล้วกับโครงการเช่าพื้นที่ตามแนวชายแดนใน สปป.ลาว หลายแห่งมาพัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเมืองร้อนเพื่อป้อนตลาดของจีนเอง เช่น ยางพารา กล้วยหอม ลำไย บางส่วนเป็นโรงงาน ศูนย์การค้า และคาสิโน ด้วยสัญญาเช่าระยะยาว
ย้อนไปในอดีตเมื่อราว 60-100 ปีก่อน ความแออัดและความยากจนในประเทศจีนบีบบังคับให้คนจีนในแผ่นดินใหญ่ต้องอพยพแสวงหาที่ทำกินใหม่บนแผ่นดินอื่น จนเกิดเป็นสังคมชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ดินแดนสุวรรณภูมิของไทยก็เป็นเป้าหมายสำคัญของการอพยพย้ายถิ่นของคนจีนในยุคนั้น โดยมากันได้หลายเส้นทางทั้งทางบกมาตามแม่น้ำและทางทะเลยกเว้นทางอากาศ เพื่อนคนไทยเชื้อสายจีนร่วมสมัยคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อาก๋งอพยพมาจากเมืองจีนแถบมณฑลกวางสีเลือกใช้เส้นทางเดินเท้าผ่านเวียดนาม มายังลาวถึงเมืองหลวงพระบางจากนั้นจึงล่องมาตามแม่น้ำโขงจนมาถึงโขงเจียมหันเปลี่ยนเส้นทางขึ้นมาตามลำน้ำมูลและมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ภาคอีสานของไทย
การอพยพย้ายถิ่นฐานของชนชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ชนชาติพันธุ์ไทเคยเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้าที่ยิ่งใหญ่อยู่ในจีนตอนใต้ก่อนจะแตกกระจัดกระจายแยกย้ายเป็นหลายกลุ่ม เช่น ไทอาหม ในอินเดีย ไทสิบสองจุไทในเวียดนามตอนเหนือ ไทใหญ่ในเมียนม่าร์ และคนไทยในประเทศไทย แต่ยังมีคนไทเชื้อสายเดียวกันกับเราที่ยังคงปักหลักอาศัยอยู่ในดินแดนดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดอยู่อีกหลายกลุ่ม เช่น ไทลื้อ ในสิบสองปันนา ไทจ้วงแห่งมณฑลกวางสี รวมทั้งไทดำไทแดงแถบลุ่มแม่น้ำแดง
วันนี้เส้นทางสาย R3A กำลังทำหน้าที่เป็นสะพานนำพาพวกเราย้อนกลับไปตามหาร่องรอยชาติพันธุ์ของตนกับคนไทในดินแดนสิบสองปันนา
“เงื้อดึงธนูให้ถอยมาไกลได้มากเท่าไร ลูกธนูที่ปล่อยไปก็จะพุ่งได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น”
เป็นคำกล่าวของปรมาจารย์ด้านชาติพันธุ์วรรณนาซึ่งกล่าวไว้อย่างลึกซึ้งกินใจ มีความหมายว่า การศึกษาอดีตอย่างลุ่มลึกทำให้เรารู้เท่าทันกับปัจจุบันและจะสามารถพัฒนาอนาคตได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ก่อนวันเดินทางมาถึงผมจึงเตรียมหาทั้งหนังสือคู่มือและเที่ยวท่องโลกไซเบอร์อยู่เป็นนานสองนาน แต่ทันทีที่แรกพบได้สบตากับเชียงรุ่ง อดีตอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเป็นเมืองหลวงของชาวไทลื้อเมื่อราว 1,000 ปีก่อน ทำเอาจินตนาการของผมมลายหายไปสิ้น ทั้งนี้เพราะความยิ่งใหญ่และความทันสมัยเข้ามาแทนที่ เชียงรุ่งปัจจุบันมีทั้งย่านธุรกิจการค้าและโรงแรมที่ทันสมัยครอบคลุมทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขง แต่เดิมตัวเมืองชียงรุ่งตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหล่านซางหรือล้านช้างตามชื่อเรียกของคนท้องถิ่น ไกด์เล่าว่าเชียงรุ่งเป็นเช่นเดียวกับหัวเมืองใหญ่อื่นๆ ของจีนที่โตวันโตคืนบันดาลได้ราวกับต่อชิกซอว์ ผมชอบใจในการสรรหาคำมาเปรียบเทียบของไกด์ซึ่งพิสูจน์ได้ไม่ว่าจะเหลียวมองไปทางไหนล้วนมีแต่การก่อสร้างและปรับปรุง หากวันพรุ่งผมมีโอกาสได้มาเยือนอีกครั้งคงบอกไม่ได้ว่าเชียงรุ่งจะพัฒนาไปสักเพียงใดในเมื่อทุกอย่างเติบโตเร็วราวกับเนรมิต
ตำนานของเมืองเชียงรุ่ง ด้านหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับตำนานทางพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น เล่าขานกันสืบต่อมาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเผยแพร่พระพุทธศาสนาผ่านมารุ่งเช้าที่นี่พอดี จึงเป็นที่มาของคำว่า เชียงรุ่ง หรือดินแดนแห่งรุ่งอรุณ อีกด้านหนึ่งเล่าว่า เชียงรุ่ง คือชื่อเดิมของพญาเจือง ปฐมกษัตริย์ของสิบสองปันนา หรือที่จีนเรียกว่า เชอลี หรือ เช่อหลี่
ชาวไทลื้อในสิบสองปันนานิยมตั้งถิ่นฐานชุมชนและเมืองอยู่บริเวณที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตรโดยมีภูเขาล้อมรอบ สภาพทางภูมิศาสตร์จึงทำให้เมืองแต่ละเมืองเหมือนถูกแยกออกจากกัน ขาดความเป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่นความเป็นอาณาจักรจึงอ่อนแอไม่เหมือนรัฐไทอื่นๆ เช่น เชียงตุง หรือ ล้านนา อาณาจักรเชียงรุ่งหรืออีกชื่อหนึ่งคืออาณาจักรสิบสองปันนา ประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่กว่า 30 เมือง สมัยเจ้าอิ่นเมืองได้จัดแบ่งหัวเมืองเหล่านี้เป็น 12 กลุ่ม กลุ่มละปันนา (1,000 นา) [นาคือหน่วยวัดเนื้อที่ของชาวไทลื้อ, 1 นา มีพื้นที่ 4 ตารางเมตร 100 นา คือพื้นที่ 400 ตารางเมตร] แต่ความหมายปันนา (พันนา) ใช้เรียกหัวเมืองเหล่านี้แต่ไม่ได้หมายถึงมีเนื้อที่เพียงหนึ่งพันนาหรือ 4,000 ตารางกิโลเมตร ความหมายของคำว่า สิบสองปันนา จึงมาจากการแบ่งเขตการปกครองดังกล่าวเป็น 12 หัวเมือง ที่เรียกว่า 5 เมิงตะวันตก 6 เมิงตะวันออก (เมิง หมายถึง เมือง) โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นหลักในการแบ่ง ประกอบด้วย
1) เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ รวมเป็น 1 พันนา
2) เมืองแช่ เมืองเชียงลู เมืองออง รวมเป็น 1 พันนา
3) เมืองลวง 1 พันนา
4) เมืองหุน เมืองพาน เมืองเชียงลอ รวมเป็น 1 พันนา
5) เมืองฮาย เมืองเจือง รวม 1 พันนา
6) เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
7) เมืองล้า เมืองบ่าน รวมเป็น 1 พันนา
8) เมืองฮิง เมืองบ่าง รวมเป็น 1 พันนา
9) เมืองเชียงเหนือ เมืองลา และเมืองวัง รวมเป็น 1 พันนา
10) เมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน รวมเป็น 1 พันนา
11) เมืองอูเหนือและเมืองอูใต้ รวมเป็น 1 พันนา
12) เมืองเชียงทอง เมืองอีงู เมืองอีปัง เมืองบ่อล่า รวมเป็น 1 พันนา
เมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีที่นากว้างขวางก็มักได้รับสมญา เช่น “สี่หมื่นไร่เมืองลา
สี่หมื่นนาเมืองแช่” หรือเมืองฮายที่เป็นศูนย์กลางการค้าใบชาและการบูร ในจดหมายเหตุของจีนบันทึกไว้ว่าสิบสองปันนาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นชาพูเออ ซึ่งเป็นชาชั้นดี นอกจากนี้เมืองฮายยังเป็นเมืองสำคัญในด้านการค้าระหว่างสิบสองปันนากับพม่าและอาณาจักรล้านนา รวมทั้งกับจีนและทิเบต
การดำรงอยู่ของอาณาจักรเชียงรุ่งหรือสิบสองปันนาในอดีตมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและพม่าเสมอมาในฐานะเมือง “สองฝั่งฟ้า” โดยยอมเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองชาติและถือเอา “ฮ่อเป็นพ่อ ม่านเป็นแม่” กล่าวคือมีจีนเป็นพ่อมีพม่าเป็นแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด แต่อิทธิพลที่จีนและพม่าเข้าครอบงำโดยตรงนั้นทำได้ยากเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขายากลำบากต่อการเข้าถึง
ในหมู่บ้านไทลื้อที่กะหลั่นป้าห่างจากเชียงรุ่งลงมาทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อที่ทางการจีนได้อนุรักษ์ไว้ คล้ายกับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชุมชนที่นี่มีราว 200 หลังคาเรือน พวกเขายังคงดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรอยู่ริมแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลั่นซางหรือล้านช้าง สภาพบ้านเรือนที่เราเห็นเป็นหลังคาทรงปั้นหยาทำด้วยไม้ เสาบ้านวางอยู่บนตอหม้อทำจากหิน ฝาบ้านแอ่นเอนลู่ส่วนบนบานขึ้นรับกับหลังคาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของบ้านแบบชาวไทลื้อ ใต้ถุนบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงทอผ้า ปั่นด้าย มีครกกระเดื่องตำข้าว กลางชุมชนมีวัดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับชนชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นๆ เป็นศูนย์รวมใจของชาวไทลื้อ ชื่อวัด สวนหม่อน หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดมหาราชฐานสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1126 มีอายุมากกว่า 1400 ปี เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทลื้อ ศิลปกรรมการก่อสร้างอ่อนช้อยสวยงามคล้ายกับศิลปะแบบล้านนา ในสมัยที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรมนอกจากได้ทำลายการสืบทอดเชื้อสายของกษัตริย์แห่งเชียงรุ่งแล้ววัดทางพุทธศาสนาได้ถูกทำลายลงไปมาก ชาวไทลื้อที่นี่ได้ใช้กุศโลบายอันแยบยลตบตารัฐบาลจีนในสมัยนั้นโดยปล่อยทิ้งให้วัดแห่งนี้เป็นวัดร้างอยู่นานร่วม 20 ปี ไม่มีการทำกิจกรรมทางศาสนาใดๆ บริเวณวัดใช้เป็นที่เลี้ยงวัวควาย ในโบสถ์ใช้เป็นยุ้งฉาง จึงทำให้สามารถรักษาวัดเอาไว้ได้ ภายหลังเมื่อมีการผ่อนปรนกฏระเบียบชาวบ้านจึงกลับมาบูรณะฟื้นฟูใหม่ และเมื่อการคมนาคมไปมาหาสู่กันสะดวกมากขึ้นวัดนี้จึงได้รับการช่วยเหลือทั้งในด้านเงินบริจาคและปัจจัยมากมายจากนักท่องเที่ยวชาวไทย หากมองอย่างผิวเผินเมื่อเราเดินอยู่ในชุมชนบ้านกะหลั่นป้าให้ความรู้สึกคล้ายกับเราเดินอยู่ในชนบทไทยสักแห่งในภาคเหนือ ถึงแม้จะเป็นการรื้อฟื้นและถูกปรุงแต่งขึ้นมาใหม่แต่บรรยากาศและกลิ่นอายเรายังคงสัมผัสได้อยู่
ผมแวะขึ้นไปพูดคุยบนบ้านหลังหนึ่งตามคำชักชวนของเจ้าของบ้านที่เป็นหญิงวัยเลยกลางคนในหมู่บ้านกะหลั่นป้า ผมถามด้วยบทสนทนาง่ายๆ เธอตอบกลับมาด้วยภาษาที่ฟังดูคล้ายสำเนียงทางเหนือหรืออีสาน “กำลังทำอะไรอยู่ครับ?” “เฮ็ดการ” เธอตอบขณะที่มือเธอเพิ่งละจากผ้าที่กำลังปักชุนอยู่ “มีลูกกี่คน?” “มีลูกสองโต๋เปิลไปเฮ็ดการอยู่คุนหมิง” เธอตอบก่อนลุกไปชงน้ำชามาต้อนรับ ผมกวาดสายตาเหลียวมองไปรอบๆ เห็นว่าเป็นบ้านที่มีห้องรับแขกขนาดใหญ่ตามธรรมเนียมของชาวไทลื้อถือว่าเป็นห้องที่สำคัญที่สุดในบ้าน มีไว้สำหรับรับรองและเป็นที่พักหลับนอนของแขกผู้มาเยือนรวมทั้งเป็นห้องนั่งเล่นทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันของคนในครอบครัว ส่วนห้องนอนของเจ้าของบ้านเป็นเพียงห้องเล็กๆ ไม่พิถีพิถันเท่าใดนัก
“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”
การแย่งชิงอำนาจในหมู่เจ้านายสิบสองปันนาเป็นเหตุให้มีการขอกองกำลังจากล้านนาไปช่วย เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงยกกองกำลังไปตีเชียงรุ่ง 2-3 ครั้ง ในระหว่างปี ค.ศ. 1806-1815แต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ แต่การถอยทัพทุกครั้งมักจะกวาดต้อนผู้คนกลับมาใส่บ้านเมืองของตนด้วยเพื่อฟื้นฟูและสร้างอาณาจักร นั่นเป็นความสัมพันธ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ระหว่างอาณาจักรล้านนาของไทยกับสิบสองปันนานอกเหนือจากด้านการค้า สมัยไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองแก่พม่าคนไทยก็เคยถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่หงสาวดีและมัณฑะเลเป็นจำนวนมากเช่นกัน เรียกกันว่าพวก โยเดีย คือพวกที่มาจากอยุธยา ด้วยเหตุนี้จังหวัดทางภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน จึงมีลูกหลานไทลื้อหลายชุมชนสืบทอดเชื้อสายและขนบประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน
ชีวิตกลางคืนของเมืองเชียงรุ่งหรือ “จิ่งหง” (Jinghong) ในภาษาราชการของจีน วันนี้มีแสงสี จากผับ บาร์ และสถานเริงรมย์ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกโค้งถนนเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว มีการจัดการแสดงที่บ่งบอกถึงประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทลื้อที่โรงละครพาราณสีเป็นประจำทุกคืน นอกเหนือจากความงดงามอลังการของแสงและเสียงแล้วทุกฉากยังเต็มไปด้วยความหมายโดยมีจุดขายคือความเป็นไทลื้อ การแสดงทุกรอบจึงหนาแน่นและคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตอนกลางวันในย่านศูนย์การค้าผู้คนมาเดินช้อปปิ้งกันค่อนข้างหนาตา ผมสังเกตเห็นลวดลายตามซุ้มประตูในตัวเมือง รูปปั้น และอาคารน้อยใหญ่รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นิยมใช้สัญลักษณ์รูปช้างและนกยูงมาประดับตกแต่ง เข้าใจว่าผู้สรรสร้างคงต้องการสื่อให้รู้ถึงความเป็นมาของอาณาจักรล้านช้างและสิบสองปันนาของชนกลุ่มน้อยชาวไทลื้อที่วันนี้มีประชากรอยู่ประมาณ 300,000 คน
วันเดินทางกลับมาถึงเร็วกว่าที่คิด เราออกเดินทางแต่เช้าตรู่จากท่าเรือที่หมู่บ้านกะหลั่นป้า มุ่งหน้าลงใต้มาตามลำน้ำโขงสายน้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของผู้คนในชุมชนอุษาคะเนย์หลายร้อยล้านคน อุณหภูมิที่ลดต่ำในหน้าหนาวเปลี่ยนมวลอากาศเป็นละอองหมอกหนาลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือผิวน้ำใส เงาตะคุ่มๆ ของเรือโดยสารข้ามฝั่งแล่นผ่านเราไปเป็นระยะๆ ระลอกคลื่นจากเรือแหวกคว้านผืนน้ำเป็นวงกว้างไล่ไปกระทบแก่งหินริมฝั่งทั้งสองฟาก นอกหน้าต่างลำเรือที่เหนือระดับสายตาขึ้นไปเป็นภูเขาสีเขียวสูงละลิ่ว สีเขียวที่เห็นเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของสิบสองปันนาคือยางพาราสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรมใหม่ เรียงหน้ามาให้เห็นลูกแล้วลูกเล่าไกลสุดหูสุดตา
การเดินเรือเพื่อการพาณิชย์ในแม่น้ำโขงจีนเป็นฝ่ายผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวด้วยว่าเหนือขึ้นไปในแผ่นดินใหญ่ในตอนกลางของประเทศ จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไว้หลายแห่งทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ปริมาณน้ำมีน้อยการคมนาคมเดินเรือขนาดกลางในลำน้ำโขงด้านใต้เขื่อนจึงต้องอาศัยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยหนุน ด้วยเหตุนี้การเดินเรือช่วงจากสิบสองปันนาลงมาชียงแสนจึงมีแต่จีนเท่านั้นที่สามารถทำได้ ในหน้าแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเกษตรและการคมนาคมในประเทศตอนล่างอย่าง ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม จึงมีการจัดประชุมร่วมของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อจัดสรรและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
ท่าเรือกุ้ยเล่ย (Guan Lei) เป็นท่าเรือสุดท้ายชายแดนจีน ก่อนที่เรือจะนำพาเราเข้าสู่ดินแดนรอยต่อของสามประเทศ จีน เมียนม่าร์ และลาว เรียกกันว่า สามเหลี่ยมมรกต จะตั้งชื่อเพื่อให้คล้องจองกับ ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อของสามประเทศ ไทย เมียนม่าร์และลาว หรือไม่ผมไม่มีข้อมูลแต่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าไม้บนภูเขาสองฝั่งโขงบริเวณนี้ทำให้ผมนึกโยงไปถึงวันวานที่เราเข้าชมสวนป่าดงดิบ (Forest Park) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงรุ่งมากนัก ที่นั่นมีพืชพันธุ์เขียวขจีมีป่าไผ่ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกยูง สัตว์ที่ชาวไตลื้อถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม ความสุข และความดี ดังข้อความตรงปากทางเข้าสวนที่เขียนเป็นภาษาจีน อังกฤษ และไทย มีใจความว่า...
“Xeshuangbanna is the home of peacocks. In the eye of the Dai people, peacocks are symbols of happiness, beauty and good fortune…”
จากสวนป่าธรรมดาจีนสามารถจัดการให้แตกต่างได้อย่างน่าสนใจ ผมจึงไม่แปลกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสายจนรถไฟฟ้านำชมในอุทยานให้บริการไม่ทัน ในสวนป่ามีนกยูงมากกว่า 300 ตัว ถูกปล่อยเลี้ยงให้หากินตามธรรมชาติแต่มีอาหารเสริมให้บางเวลา สัญญาณนกหวีดจากเจ้าหน้าที่ที่ให้อาหารสามารถเรียกนกยูงนับร้อยๆ ตัวให้บินลงมายังลานนัดหมายในเวลาเดียวกันจากขุนเขาที่อยู่รายรอบ เราต่างแตกตื่นแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ชัตเตอร์ กล้องถ่ายรูปทุกตัวระรัวถี่ยิบ เมื่อได้เวลาเขาก็บินจากไป เป็นอีกเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความเป็นบ้านเกิดของนกยูงได้อย่างแจ่มชัด
ประเพณีการแต่งงานของชาวเขาเผ่าอาข่าเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งของสวนป่าดงดิบที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชายเป็นจะเป้าหมายให้เข้าร่วมพิธีแต่งงานกับหญิงสาวชาวอาข่า เป็นการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมในบรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง แฝงอุบายด้วยการหารายได้จากกระเป๋านักท่องเที่ยวในฐานะเจ้าบ่าวที่ต้องจ่ายค่าสินสอดให้เจ้าสาวคนละ 50 หยวนแลกกับการถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึกหรือให้ระทึกเมื่อกลับมาถึงบ้าน
แม่น้ำโขงช่วงที่กั้นระหว่างเมียนม่าร์กับลาวไหลคดเคี้ยวกระแสน้ำแรงและเชี่ยวกราดเพราะผ่านพื้นที่ภูเขาสูงมีเกาะแก่งและโขดหินน้อยใหญ่ตะปุ่มตะป่ำงดงามแต่เป็นอุปสรรคและอันตราย กัปตันเรือต้องใช้ทักษะและความชำนาญเป็นพิเศษ ไกด์บนเรือชี้ชวนให้ดูความงามของเกาะแก่งโขดหินหลายสีสันและรูปทรงพร้อมสาธยายความหมายเพื่อประดับความรู้
หินสีเขียวนั่นหมายถึงมีส่วนผสมของแร่ทองแดง
หินสีมันวาวออกสีน้ำตาลเข้มคือแร่แมงกานีส
หินขรุขระตะปุ่มตะป่ำสีดำแต่มันวาวเมื่อกระทบแสงแดดคือ ถ่านหิน
ก่อนนี้มีเกาะและแก่งหินมายมายในแม่น้ำโขงแต่เมื่อจีนเริ่มเปิดเส้นทางการสัญจรทางน้ำขึ้นเมื่อหลายปีก่อนได้ระเบิดทำลายปราการด่านธรรมชาติเหล่านี้ลงไปบ้าง บางช่วงของการเดินทางเรือของเราเจอเข้ากับสันดอนทรายตื้นเขินจนหมุนคว้างกลางลำคลำหาร่องน้ำกันใหม่ การคมนาคมในแม่น้ำโขงยามหน้าแล้งจึงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย
ดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าเรือก็ลอยลำนำพาพวกเราเขยิบเข้าใกล้ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำทุกขณะ ผมพาตัวเองออกมานอกห้องโดยสารสู่ดาดฟ้าเรือเพื่อมาสัมผัสกับแสงสุดท้ายแห่งวัน บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นเหลี่ยมในดินแดนลาวมีโรงแรมและคาสิโนขนาดใหญ่โดยนักลงทุนชาวจีนที่ทำสัญญาเช่า 99 ปี กับรัฐบาลลาว เริ่มเปิดไฟสว่างไสวเพื่อเชิญชวนลูกค้า ฝั่งตรงข้ามเป็นเหลี่ยมในดินแดนของเมียนม่าร์มีแม่นำสายน้อยๆ สายหนึ่งชื่อแม่น้ำฮวกไหลจากเมืองเชียงตุงลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เรียกกันว่า สบฮวก บริเวณสบฮวกในฝั่งเมียนม่าร์ก็มีคาสิโนและโรงแรมขนาดใหญ่ไม่น้อยหน้าเช่นกันแต่ที่นั่นสัมปทานโดยนักการเมืองของไทย อีกด้านเป็นเหลี่ยมของฝั่งไทยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ตรงปลายเหนือสุดของแดนสยาม บ่งบอกถึงเขตคามของดินแดนสุวรรณภูมิ ผมรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกในความช่างคิดให้แตกต่างบาดความรู้สึกผู้คนที่สัญจรหรืออย่างน้อยก็ในสายตาของนักขุดทองหรือนักพนันทุกสัญชาติ
พลบค่ำเรือลอยลำช้าๆ เข้าเทียบท่าที่อำเภอเชียงแสน
“หนทางไม่ได้เดินเพียงสามวันหญ้าก็ขึ้น ญาติพี่น้องไม่ได้ไปมาหาสู่กันก็หลงลืมสูญหาย”
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการคมนาคมขนส่งทำให้การไปมาหากันสะดวกกว่าแต่ก่อน กอปรกับสังคมที่เปิดกว้างขึ้นทำให้พี่น้องไทสองดินแดนสามารถเปิดประตูเชื่อมถึงกันได้ กาลที่ผ่านมาวัฒนธรรมและประเพณีของชาวไทลื้อในสิบสองปันได้สะท้อนภาพความเป็นไทและโฉมหน้าของบรรพบุรุษไทให้เราเห็นได้อย่างแจ่มชัด กาลข้างหน้าเราอยากเห็นลูกหลานไทลื้อในสิบสองปันนาสามารถสืบทอดมรดกอันล้ำค่าของวิถีไทเอาไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้รับช่วงสานต่อ
ลึกๆ ผมแอบคิดภาวนาในใจไม่อยากให้วันนั้นมาถึง...
วันที่หยดหนึ่งของสายเลือดไทในแผ่นดินใหญ่จีน ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามของชาวไทลื้อต้องเลือนหายไปกับแผ่นดินแม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น